การศึกษาอนุกรมวิธานของพืชวงศ์กล้วยไม้
บริเวณอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จังหวัดชัยภูมิ
|
||
Top Page วัตถุประสงค์และขอบเขตบริเวณศึกษา อุปกรณ์และวิธีดำเนินการศึกษาวิจัย
รูปวิธานจำแนกสกุล
รายชื่อกล้วยไม้
|
สมราน สุดดี (Somran Suddee)
กลุ่มพฤกษศาสตร์ป่าไม้, ฝ่ายวนวัฒนวิจัยและพฤกษศาสตร์
การศึกษาและรวบรวมพืชวงศ์กล้วยไม้ตั้งแต่บริเวณหินงามจนถึงบริเวณสุดแผ่นดิน
ในอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ สำรวจพบกล้วยไม้ จำนวน
37 ชนิด จัดไว้ใน 22 สกุล
ในจำนวนนี้สกุล Dendrobium พบมากที่สุด จำนวน
5 ชนิด สกุลที่เหลือพบสกุลละ 1-4
ชนิด บางชนิดเป็นกล้วยไม้หายาก เช่น Bullbophyllum parviflorum
Par. & Rchb.f. ในจำนวนทั้งหมดพบ 1
ชนิดที่เป็นพืชถิ่นเดียว (endemic) ของประเทศไทย คือ
Habenaria humistrata Rolfe ex Downie
ในการศึกษาครั้งนี้ ได้จัดทำคำบรรยายลักษณะอย่างละเอียดของวงศ์ สกุล และชนิด
จัดทำรูปวิธาน (key) จำแนกสกุลและชนิด
พร้อมจัดทำเอกสารข้อมูลของแต่ละสกุลและชนิด ลักษณะทางนิเวศวิทยา การกระจายพันธุ์
ช่วงเวลาออกดอก และภาพสีประกอบ กล้วยไม้เป็นพืชที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งที่เป็นกล้วยไม้ป่าและกล้วยไม้พันธุ์ผสมที่มีการเพาะเลี้ยงตามฟาร์มต่าง ๆ ปัจจุบันกล้วยไม้ป่าของไทยมีจำนวนลดน้อย ลงทุกทีเนื่องจากถิ่นอาศัยในธรรมชาติถูกรบกวนหรือทำลาย และเนื่องจากถูกลักลอบเก็บออกจากถิ่นอาศัยเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า การให้ความรู้เรื่องกล้วยไม้นับว่าเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้เรื่องกล้วยไม้ป่าซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ การศึกษาและวิจัยกล้วยไม้อยู่ในโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand Project) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของนักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันทางพฤกษศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 15-20 ปี จึงจะทำการวิจัยพืชวงศ์นี้สำเร็จ ผู้ทำการวิจัย ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่จะต้องร่วมโครงการนี้ การศึกษาพืชวงศ์นี้อย่างละเอียดในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลมาช่วยเสริมให้โครงการดังกล่าวสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น และยังทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับพื้นที่ที่ทำการศึกษานั้น ๆ การศึกษาอนุกรมวิธานของพืชวงศ์กล้วยไม้ บริเวณอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จังหวัดชัยภูมิ เป็นการศึกษาพืชใบเลี้ยงเดี่ยวต่อเนื่องจากการศึกษาพืชใบเลี้ยงคู่ที่ได้ทำไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ทั้งนี้เพื่อที่จะให้อุทยานแห่งชาติแห่งนี้มีข้อมูลพรรณไม้ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่มีจำนวนมากที่สุดในพื้นที่ พืชใบเลี้ยงเดี่ยวกลุ่มอื่น ๆ จะได้ทำการศึกษาในอนาคตต่อไป งานวิจัยนี้ ได้จัดทำขึ้นเป็นภาษาไทย ผู้ทำการวิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออุทยานแห่งชาติป่าหินงามซึ่งสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ต่อไปได้ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่านายางกลัก ในท้องที่ตำบลโป่งนก ตำบลนายางกลัก ตำบลบ้านไร่ และตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ เป็นพื้นที่ที่อยู่บนที่ราบสูงโคราช ในแนวเทือกเขาพังเหย ซึ่งทอดตัวเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคกลาง ระดับความสูงอยู่ระหว่าง 200-850 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพภูมิประเทศประกอบไปด้วยหน้าผาตัด ลานหิน และแท่งหินรูปร่างแปลก ๆ ลักษณะหินเป็นหินชั้นภูพานและพระวิหาร จัดอยู่ในหินชุดโคราช ส่วนใหญ่ประกอบด้วยหินทราย มีขนาดเม็ดต่าง ๆ กัน ลักษณะดินเป็นหน่วยสัมพันธ์ของชุดดินลาดหญ้า ดินชุดท่ายาง และดินชุดเขาใหญ่ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
ฤดูฝนอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ฤดูหนาวอยู่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ ฤดูร้อนอยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวมีหมอกปกคลุมในตอนเช้า ฝนตกชุกในเดือนพฤษภาคม แล้วทิ้งช่วงมาตกชุกอีกในเดือนกันยายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1, 144.1 มม. ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงสุดในเดือนกันยายน 263.8 มม. ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนธันวาคม 5.2 มม. อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 27.2 องศาเซลเซียส อุณภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือนเมษายน 30.1 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนมกราคม 17.6 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยทั้งปี 67 เปอร์เซ็นต์ (สมราน สุดดี, 2538) สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้งพบริมลำธาร มีสัมคมป่าดิบเขาปรากฏให้เห็นบ้างบริเวณริมหน้าผาบนสันเขาที่ทอดตัวเป็นแนวยาว ไม้เด่นเป็นไม้เหียงหรือสะแบง (Dipterocarpus obtusifolius Teijsm. ex Miq.) เต็ง (Shorea obtusa Wall. ex Blume) พะยอม (Shorea roxburghii G. Don) รัก (Gluta usitata (Wall.) Ding Hou) เสม็ดชุน (Syzygium gratum (Wight) S. N. Mitra) สารภีป่า (Anneslea fragrans Wall.) ก่อแพะ (Quercus kerrii Craib) ก่อขี้หนู (Lithocarpus harmandii (Hickel & A. Camus) A. Camus). ทุ่งดอกกระเจียว กระเจียวหรือบัวสวรรค์ (Curcuma alismatifolia Gagnep.) เป็นพืชล้มลุกจัดอยู่ในวงศ์ขิงข่า (Zingiberaceae) พบขึ้นกระจายทั่วไปตั้งแต่ลานหินงามจนถึงจุดชมวิวสุดแผ่นดิน จะพบดอกกระเจียวบานเต็มที่เห็นใบประดับสีชมพูสดเป็นทุ่งประมาณเดือนกรกฎาคมของทุกปี ลานหินงาม เป็นลานหินที่มีรูปร่างแปลก ๆ มีลักษณะสวยงามเป็นที่อัศจรรย์ ในฤดูฝนมีดอกไม้ล้มลุกขึ้นอยู่ตามลานหินที่ชื้นแฉะจำนวนมาก ลานหินงามอยู่ใกล้ทำการอุทยานแห่งชาติ มีทางรถยนต์เข้าถึง จุดชมวิวสุดแผ่นดิน เป็นหน้าผาสูงชันและเป็นจุดที่สูงสุดของเทือกเขาพังเหย เกิดจากการยกตัวของพื้นที่เป็นที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เรียกบริเวณนี้ว่า “สุดแผ่นดิน” พื้นที่จุดนี้เป็นรอยต่อระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน จากจุดนี้จะมองเห็นทิวทัศน์ของสันเขาพังเหยและเขตพื้นที่ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกาด้านล่าง จุดชุมวิวนี้มีทางรถยนต์เข้าถึง สามารถเดินทางได้ทั้งทางรถไฟและรถยนต์ สำหรับทางรถไฟ มีรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพ-หนองคาย ผ่านอำเภอเทพสถิต จากนั้นเดินทางไปอุทยานแห่งชาติป่าหินงามโดยรถยนต์ สำหรับทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ เดินทางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดสระบุรีไปยังสามแยกพุแค แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 ไปลำนารายณ์ จากนั้นเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 205 เส้นทางลำนารายณ์-ลำสนธิ-เทพสถิต เดินทางจากลำนารายณ์ประมาณ 48 กิโลเมตร ก่อนถึงที่ทำการอำเภอเทพสถิตประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตามเส้นทางไปอำเภอหนองบัวระเหว ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2354 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ถึงทางแยกซ้ายมือเข้าบ้านไร่ ใช้ระยะทางอีกประมาณ 14 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม หรือจากอำเภอสีคิ้ว นครราชสีมา สามารถใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ผ่านอำเภอด่านขุนทด แล้วต่อไปยังอำเภอเทพสถิตได้ สมราน สุดดี (2538) รายงานการสำรวจพืชใบเลี้ยงคู่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ. ศ. 2535 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ. ศ. 2537 บริเวณหินงามและสุดแผ่นดิน พบพืชใบเลี้ยงคู่ทั้งสิ้น 141 ชนิด จัดอยู่ใน 58 วงศ์ 107 ชนิด ผู้วิจัยได้เสนอให้มีการสำรวจพืชใบเลี้ยงเดี่ยวต่อไป เพื่อให้ได้ข้อมูลพันธุ์ไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับพื้นที่ เท่าที่มีหลักฐานการบันทึกไว้ นักพฤกษศาสตร์ท่านแรกที่ให้ความสนใจกล้วยไม้ไทยและมีการเก็บตัวอย่างศึกษาคือหมอคาร์ (A. F. G. Kerr) นายแพทย์ชาวไอริช ผู้จัดตั้งกองตรวจรุกขชาติ กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม กล้วยไม้เป็นพืชกลุ่มแรกที่ท่านเก็บในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเก็บจากบริเวณดอยสุเทพ แล้วส่งไปตรวจชื่อที่สวนพฤกษศาสตร์คิว (Jacobs, 1962) หลังจากนั้น P. F. Cumberlege และ V. M. S. Cumberlege ได้ใช้เวลา 75 วัน ระหว่างปี พ. ศ. 2505-2506 สำรวจกล้วยไม้บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบกล้วยไม้ทั้งสิ้น 54 สกุล 121 ชนิด (Cumberlege & Cumberlege, 1963) ส่วนการสำรวจกล้วยไม้อย่างเป็นจริงเป็นจังทั่วประเทศแล้วตีพิมพ์เป็นรูปเล่มออกมา เป็นงานของอดีตเอกอัคราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทยร่วมกันศาสตราจารย์ ดร. เต็มสมิตินันทน์ นักพฤกษศาสตร์ของหอพรรณไม้ (Seidenfaden & Smitinand, 1959-1965) หลังจากนั้นท่าน Seidenfaden ก็ทำการวิจัยกล้วยไม้ไทย อินโดจีน และมาเลเซีย โดยร่วมกันนักพฤกษศาสตร์ท้องถิ่นในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและตัวอย่าง แล้วตีพิมพ์ผลงานออกมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งท่านเสียชีวิตในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ผลงานของท่านอยู่ในรูปแบบที่เป็นกุญแจจำแนกชนิด มีข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ รูปวาด ภาพสี การกระจายพันธุ์ แต่ไม่มีคำบรรยายลักษณะและยังไม่อยู่ในรูปแบบของหนังสือพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) งานของท่านเป็นชิ้นงานที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับการวิจัยกล้วยไม้ไทยที่จะเขียนออกมาในรูปแบบ Flora ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 15-20 ปี โดยความร่วมมือกันของนักพฤกษศาสตร์ไทยและนักพฤกษศาสตร์ชาวต่างประเทศจากการรวบรวมเอกสารทางพฤกษอนุกรมวิธานของกล้วยไม้ไทยที่มีการวิจัยมาตั้งแต่อดีต คาดว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกล้วยไม้ป่าประมาณ 177 สกุล 1,136 ชนิด (Thaithong, 1999) วัตถุประสงค์และขอบเขตบริเวณศึกษา วัตถุประสงค์ 1. เพื่อสำรวจและศึกษากล้วยไม้ เพื่อให้ได้ข้อมูลพรรณพฤกษชาติที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นสำหรับอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม เป็นการศึกษาพืชใบเลี้ยงเดี่ยวต่อเนื่องจากการศึกษาพืชใบเลี้ยงคู่ที่ได้ทำการศึกษาไปแล้ว 2. เพื่อเป็นการเพิ่มข้อมูลทางพฤกษอนุกรมวิธานของกล้วยไม้ สำหรับโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand Project) ที่กำลังดำเนินการอยู่ 3. เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ ในเขตอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ขอบเขตบริเวณศึกษา ทำการสำรวจและศึกษากล้วยไม้ตั้งแต่บริเวณลานหินงามต่อเนื่องไปจนถึงแนวหน้าผาสุดแผ่นดินที่เป็นรอยต่อระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคกลาง อุปกรณ์และวิธีดำเนินการศึกษาวิจัย อุปกรณ์การศึกษาวิจัย 1. อุปกรณ์การเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้ ประกอบไปด้วย แผงอัดพันธุ์ไม้ ขนาด 30 x 45 ซม. พร้อมเชือกรัด กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษลูกฟูก กรรไกรชักและกรรไกรตัดกิ่งไม้ ถุงพลาสติกเก็บพันธุ์ไม้ กลักฟิล์มพลาสติกสำหรับเก็บดอกดองมาศึกษากรณีพันธุ์ไม้มีจำนวนน้อย ไม่สามารถเก็บตัวอย่างได้ สมุดบันทึกข้อมูลในภาคสนาม แว่นขยาย แผ่นป้ายหมายเลขพันธุ์ไม้ ฟิล์มสี กล้องถ่ายรูป เครื่องวัดระดับความสูง 2. อุปกรณ์เตรียมตัวอย่างพันธุ์ไม้แห้ง ประกอบไปด้วย น้ำยาอาบพันธุ์ไม้เพื่อกันแมลงและเชื้อรา กระดาษแข็งสำหรับเย็บพันธุ์ไม้และกระดาษปกสีขาว ขนาด 28 x 45 ซม. กระดาษปกสีน้ำตาล ขนาด 30 x 45 ซม. แผ่นป้ายข้อมูล เข็มและด้ายเย็บพันธุ์ไม้ 3. อุปกรณ์การทำตัวอย่างดอง ประกอบไปด้วย Ethyl Alcohol 70% ผสม glycerine เล็กน้อย ขวดดองขนาดต่าง ๆ และแผ่นป้ายบันทึกข้อมูล 4. อุปกรณ์การตรวจชื่อวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ ประกอบไปด้วย dissecting microscope, dissecting needles ใบมีดโกน เอกสารต่าง ๆ ทางพฤกษอนุกรมวิธานของกล้วยไม้ และตัวอย่างพันธุ์ไม้เทียบเคียงในหอพรรณไม้ วิธีดำเนินการศึกษาวิจัย 1. ออกสำรวจพื้นที่ในฤดูกาลต่าง ๆ กัน เพื่อสำรวจดูว่ามีกล้วยไม้ขึ้นอยู่บริเวณใดบ้าง ทั้งที่เป็นกล้วยไม้ดิน (terrestrial) กล้วยไม้ขึ้นบนก้อนหิน (lithophyte) และกล้วยไม้อิงอาศัย (epiphyte) แล้วตามเก็บตัวอย่าง บันทึกข้อมูลเพื่อศึกษาตามวิธีการทางพฤกษศาสตร์ เก็บตัวอย่างทั้งในรูปตัวอย่างแห้งและตัวอย่างดอง ถ้ากล้วยไม้ชนิดใดมีน้อย ใช้วิธีศึกษาในภาคสนามแล้วเก็บเฉพาะดอกดองใส่กลักฟิล์มพลาสติก นำมาตรวจสอบเพิ่มเติมในห้องปฏิบัติการ เริ่มทำการศึกษาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ. ศ. 2536 ถึง เดือนกรกฎาคม พ. ศ. 2546 2. ศึกษาพันธุ์ไม้ในห้องปฏิบัติการ โดยตรวจสอบลักษณะทางสัณฐานวิทยาส่วนต่าง ๆ อย่างละเอียด พร้อมศึกษาข้อมูลที่บันทึกไว้ในภาคสนาม ทำการตรวจสอบหาสกุลและชนิดโดยใช้เอกสารทางพฤกษอนุกรมวิธานในห้องสมุดพฤกษศาสตร์ และจากแหล่งอื่น ๆ 3. ตรวจสอบชื่อพื้นเมือง ลักษณะทางนิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ เขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยยึดตามหนังสือพรรณพฤกษชาติประเทศไทย ซึ่งแบ่งเป็นภาคพรรณพืช แตกต่างไปจากภาคทางภูมิศาสตร์ 4. จัดทำรูปวิธานจำแนกสกุล และรูปวิธานจำแนกชนิด 5.จัดทำคำบรรยายลักษณะสกุลและชนิดพร้อมแสดงเอกสารอ้างอิงที่เกี่ยวข้อง คำบรรยายลักษณะได้ยึดหลักการเขียนตามแบบศัพท์พฤกษศาสตร์ อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ได้มากที่สุด ชื่อย่อ author ใช้ตามแบบสากลในหนังสือ Authors of Plant Names, Royal Botanic Gardens, Kew (Brummitt & Powell, 1992) ชื่อย่อหนังสือยึดตามแบบที่แสดงในหนังสือ Texonomic Literature (Stafleu & Cowan, 1976-1988; Stafleu & Mennega, 1992-2000) ชื่อย่อวารสารยึดตามแบบสากลใน Botanico-Periodicum-Huntianum/ Supplementum (Bridson, 1991) ถ้าชื่อหนังสือหรือไม่มีปรากฏในหนังสือดังกล่าวข้างต้น ใช้หลักการย่อโดยไม่ก่อให้เกิดความคลุมเครือกับชื่อหนังสือหรือวารสารอื่น 6. จัดทำรูปเล่ม รายงานผลการศึกษาเป็นเอกสารทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ จากการสำรวจกล้วยไม้ตั้งแต่บริเวณลานหินงามจนถึงบริเวณสุดแผ่นดิน บริเวณอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ. ศ. 2536 จนถึงเดือนกรกฎาคม พ. ศ. 2546 สำรวจพบกล้วยไม้ทั้งสิ้น 37 ชนิด จัดอยู่ใน 22 สกุลได้จัดทำคำบรรยายลักษณะวงศ์ รูปวิธานจำแนกสกุล คำบรรยายลักษณะสกุล รูปวิธานจำแนกชนิด และคำบรรยายลักษณะชนิด โดยเรียงลำดับตัวอักษร ทั้งในระดับสกุลและชนิด กล้วยไม้ (ORCHIDACEAE) ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ขึ้นบนดิน (terrestrial) หรือเป็นพืชอิงอาศัย (epiphyte) หรือเป็นพวกพืชกินซาก (saprophyte) พวกที่อาศัยบนดินมีรากฝอยหรือหัวใต้ดิน พวกที่อิงอาศัย ลำต้นมักพองออกเรียกลำลูกกล้วย (pseudobulb) มีรากอากาศ พวกพืชกินซากจะขึ้นบนซากพืช ไม่มีคลอโรฟิล การเจริญเติบโตมี 2 แบบ อาจเจริญเติบโตแบบแตกกอ (sympodial) หรือเจริญเติบโตขึ้นไปทางส่วนยอด (monopodial) ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ มีบ้างที่เรียงตรงกันข้าม หรือวงรอบ ใบอาจอ่อนบาง เหนียวคล้ายแผ่นหนัง หรืออวบน้ำ โคนใบมักเป็นกาบหุ้มลำต้นหรือลำลูกกล้วย ช่อดอกแบบช่อเชิงลด (spike) ช่อกระจะ (raceme) ช่อแยกแขนง (panicle) หรือเป็นดอกเดี่ยว มักเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกมีสมมาตรด้านข้าง (zygomorphic) มีใบประดับ ดอกมี 6 กลีบ แบ่งเป็น 2 วง ๆ ละ 3 กลีบ วงนอกเป็นวงกลีบเลี้ยง มีลักษณะคล้ายกัน วงในเป็นวงกลีบดอก 2 กลีบมีลักษณะเหมือนกันเรียกว่ากลีบดอก กลีบที่เหลือ มีรูปร่างและขนาดแตกต่างออกไป เรียกว่ากลีบปาก (lip หรือ labellum) โคนของกลีบปากอาจมีถุงสั้นหรือยาวเรียกว่าคางหรือเดือย (mentum) เกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียรวมอยู่ด้วยกันเป็นแท่งเรียก เส้าเกสร (column) อยู่ตรงข้ามกับกลีบปาก เกสรเพศผู้มี 1 อยู่ด้านบนของเส้าเกสร หรือมี 2 อยู่ด้านข้าง อับเรณูมี 2 ห้อง เรณูเป็นก้อนเล็กละเอียด หรือจับรวมกันเป็นก้อนแข็งเรียกว่า ก้อนเรณู (pollinia) แต่ละอับเรณูมีก้อนเรณู 2-8 ก้อน อาจมีหรือไม่มีก้านเรณู ยอดเกสรเพศเมีย มีลักษณะเป็นแอ่ง อยู่บนเส้าเกสรแต่ต่ำกว่าเกสรเพศผู้ลงมา ระหว่างยอดเกสรเพศเมียกับอับเรณูมีเกสรเพศเมียที่เป็นหมันยื่นออกมาเรียกว่า จงอย (rostellum) รังไข่เป็นแบบรังไข่ต่ำกว่าวงกลีบดอก ผลเป็นแบบผลแห้งแล้วแตก (capsule) เมล็ดมีขนาดเล็ด จำนวนมาก รูปวิธานจำแนกสกุลกล้วยไม้บริเวณอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม 1. เจริญเติบโตขึ้นไปทางส่วนยอด (monopodial) ต้นจะเจริญเติบโตไปทางส่วนยอดได้เรื่อย ๆ 2. ก้อนเรณูมี 2 ก้อน 3. กลีบปากมีเดือยโค้งงอ หันไปทางด้านหน้า 2. Aerides 3. กลีบปากไม่มีเดือย 4. ใบกลม ช่อดอกเกิดที่ด้านข้าง 13. Luisia 4. ใบแบนเป็นสันแคบ ช่อดอกเกิดที่ปลายยอด 3. Bromheadia 2. ก้อนเรณูมี 4 ก้อน 5. กล้วยไม้อิงอาศัย ช่อดอกเกิดด้านข้าง โคนกลีบปากมีเดือย ไม่มีรยางค์ที่โคนกลีบปาก 6. ใบกลม เดือยและปากเดือยแคบ ภายในเดือยมีแผ่นเยื่อบาง ๆ กั้นตามยาว 5. Cleisostoma 6. ใบแบน เดือยเป็นแอ่งลึกคล้ายถ้วย ปากเดือยกว้าง ภายในเดือยไม่มีแผ่นเยื่อบาง ๆ กั้น ตามยาว 22. Thrixspermum 5. กล้วยไม้ดิน หรือขึ้นบนก้อนหิน ช่อดอกเกิดที่ปลายยอด โคนกลีบปากไม่มีเดือยแต่มี รยางค์เล็กแคบ 2 อัน 9. Doritis 1. เจริญเติบโตแบบแตกกอหรือเจริญทางด้านข้าง (sympodial) ซึ่งเกิดจากตาของลำต้นหรือหัวเดิม 7. ก้อนเรณูมี 8 ก้อน 8. กล้วยไม้ดิน ลำลูกกล้วยกลมแบน มีความกว้างมากกว่าความสูง ใบมีรอยพับตามยาวคล้ายพัด 9. ดอกมีก้อนนูน 2 ก้อน ที่โคนแฉกกลางของกลีบปาก ใบมี 2-3 ใบ 19. Spathoglottis 9. ดอกไม่มีก้อนนูนดังกล่าว ใบมี 1 ใบ 20. Tainia 8. กล้วยไม้อิงอาศัยหรือกล้วยไม้ดิน ลำลูกกล้วยมีความสูงมากกว่าความกว้าง หรือไม่มีลำลูกกล้วย 10. กล้วยไม้อิงอาศัย ไม่มีลำลูกกล้วย มีเหง้าเลื้อย เกือบทุกส่วนมีขนปกคลุมหนาแน่น 21. Trichotosia 10. กล้วยไม้อิงอาศัยหรือขึ้นบนก้อนหิน มีลำลูกกล้วยชัดเจน มีขนหนาแน่นเป็นบางส่วน 10. Eria 7. ก้อนเรณูมี 2 หรือ 4 ก้อน 11. ก้อนเรณูมี 2 ก้อน 12. ก้อนเรณูแยกกันอยู่ก้อนละช่อง ไม่มีฝาอับเรณู 13. พูด้านข้างยอดเกสรเพศเมียไม่ยื่นออกไปหน้าเส้าเกสร 14. ทั้งพูด้านข้างยอดเกสรเพศเมียและอับเรณู ไม่ยื่นออกไปหน้าเส้าเกสร เดือยสั้น ก้านดอกตั้งแนบชิดกับแกนช่อดอก 16. Peristylus 14. โคนของอับเรณูยื่นออกมาหน้าเส้าเกสร เดือยค่อนข้างยาว ก้านดอกไม่แนบชิดกับแกนช่อดอก 15. Pecteilis 13. พูด้านข้างยอดเกสรเพศเมีย มีก้านยื่นออกไปจากเส้าเกสร 12. Habenaria 12. ก้อนเรณูรวมกันอยู่ที่ปลายยอด มีฝาอับเรณู 15. ใบมีรอยพับตามยาวคล้ายพัด มีหัวใต้ดิน 11. Eulophia 15. ใบเรียบ ไม่มีรอยพับดังกล่าว ไม่มีหัวใต้ดิน 7. Cymbidium 11. ก้อนเรณูมี 4 ก้อน 16. กลีบเลี้ยงคู่ข้างเชื่อมติดกันโดยตลอดความยาว อยู่ใต้กลีบปาก กล้วยไม้อิง อาศัย มีข้อหลายข้อ 1. Acriopsis 16. กลีบเลี้ยงคู่ข้างแยกจากกัน หรือมีฐานของกลีบเชื่อมกับฐานของเส้าเกสรเกิดเป็นเดือย กล้วยไม้อิงอาศัย หรือขึ้นบนก้อนหิน มีข้อเดียวหรือหลายข้อ 17. กลีบปากมีรูปร่างคล้ายลิ้น เคลื่อนไหวได้ ลำลูกกล้วยมี 1 ข้อ มีใบ 1 ใบ 4. Bulbophyllum 17. กลีบปากไม่มีลักษณะดังกล่าว ลำลูกกล้วยมี 1 หรือหลายข้อ มีใบ 1 หรือ หลายใบ 18. ดอกไม่มีเดือย
19. กลีบเลี้ยงมักกว้างกว่ากลีบดอก โคนกลีบปากไม่โค้งเป็นแอ่ง ปลายลำลูกกล้วย 6. Coelogyne 20. ลำลูกกล้วยมีหลายข้อ ลำใหม่เกิดจากตาข้างใกล้ปลายของลำ เก่า เกิดต่อกันไปเรื่อย ๆ ช่อดอกออกที่ปลายลำลูกกล้วย 17. Pholidota
19. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกกว้างเท่า ๆ กัน โคนกลีบปากโค้งเป็นแอ่ง
18. ดอกมีเดือย 21. ปลายเดือยชี้ขึ้น ทำให้กลีบปากอยู่ด้านบน 18. Polystachya 21. ปลายเดือยชี้ลง กลีบปากอยู่ด้านล่าง 8. Dendrobium จากกล้วยไม้จำนวน 22 สกุล 37 ชนิดที่สำรวจพบ ปรากฎว่าพบกล้วยไม้ 3 ลักษณะนิสัย คือ กล้วยไม้อิงอาศัย (epiphyte) กล้วยไม้ดิน (terrestrial) และกล้วยไม้ขึ้นบนหิน (lithophyte) ไม่พบพวกกล้วยไม้กินทราก (saprophyte) ในจำนวน 3 ลักษณะนิสัย กล้วยไม้อิงอาศัยพบมากที่สุด รองลงมาเป็นกล้วยไม้ดิน และกล้วยไม้ขึ้นบนหินตามลำดับ สกุลที่เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยได้แก่ สกุล Acriopsis, Aerides, Bromheadia, Cleisostoma, Cymbidium, Dendrobium, Luisia, Panisea, Pholidota, Polystachya, Thrixspermum และสกุล Trichotosia สกุลกล้วยไม้ดิน ได้แก่ สกุล Eulophia, Habenaria, Pecteilis, Peristylus, Spathoglottis และสกุล Tainia สกุลกล้วยไม้ขึ้นบนหิน ได้แก่ สกุล Doritis ส่วนสกุล Bulbophyllum, Coelogyne และ Eria พบทั้งที่เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยและกล้วยไม้ขึ้นบนหิน กล้วยไม้ชนิดที่พบมาที่สุดคือ เอื้องจำปา (Bromheadia aporoides Rchb. f.) ชนิดที่พบน้อยที่สุดคือ สิงโตขนตาแดง (Bulbophyllum lemniscatoides Rolf) ซึ่งพบเพียงครั้งเดียวบนต้นไม้ ริมหน้าผาสุดแผ่นดิน บางชนิดเคยพบในปริมาณมากเมื่อเริ่มศึกษา แต่ระยะหลังมีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ ได้แก่ เอื้องคำหิน (Eria pubescens (Hook.) Steud.) และ หัวข้าวเหนียว (Spathoglottis affinis de Vriese) สองชนิดนี้เคยมีมากบริเวณสุดแผ่นดิน แต่ถูกนักท่องเที่ยวเหยียบย่ำมากจนทำให้ปริมาณลดน้อยลงบางชนิดที่สวยงามและดอกหอมก็มีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น เอื้องเงิน หรือเอื้องตึง (Dendrobium draconis Rchb. f.) และ เอื้องคำกิ่ว เอื้องตีนนก หรือเอื้องตีนเป็น (Dendrobium signatum Rchb. f.) สองชนิดนี้อาจถูกลักลอบเก็บหาโดนนักท่องเที่ยวก็เป็นได้ เมื่อเปรียบเทียบบริเวณลานหินงาม และบริเวณหน้าผาสุดแผ่นดิน จะพบว่า กล้วยไม้บริเวณลานหินงามส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้ดินและกล้วยไม้ขึ้นบนหิน ส่วนบริเวณสุดแผ่นดินส่วนใหญ่จะเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย การได้รับความชื้นที่มากกว่า เช่นการมีหมอกในตอนเช้าบริเวณสุดแผ่นดิน อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้พบกล้วยไม้อิงอาศัยมากกว่าบริเวณลานหินงาม ส่วนบริเวณระหว่างลานหินงามและสุดแผ่นดิน พบกล้วยไม้อิงอาศัยและกล้วยไม้ขึ้นบนหินในปริมาณพอ ๆ กัน สิงโตงามหรือสิงโตประหลาด (Bulbophyllum affine Lindl.) พบเฉพาะบนต้นไม้ในบริเวณที่มีความชื้นริมลำธาร บางชนิดเป็นกล้วยไม้ที่พบได้ทั่วไปแต่ในบริเวณที่ศึกษามีจำนวนน้อย ได้แก่ กะเรกะร่อน (Cymbidium aloifolium (L.) Sw.) กล้วยไม้ที่พบทุกชนิด ไม่ว่าจะมีปริมาณมากหรือน้อย ล้วนมีคุณค่าสมควรแก่การรักษาให้คงอยู่ในพื้นที่ ข้อมูลของแต่ละชนิดในบทผลการศึกษา จะช่วยได้มากในการจัดการ 1. เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับกล้วยไม้ในพื้นที่ได้ทำสำเร็จแล้ว เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน่าจะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ เช่นแนะนำให้รู้จักกล้วยไม้ในพื้นที่ แนะนำให้เห็นความสำคัญเพื่อเป็นแรงจูงใจในการอนุรักษ์ ซึ่งอาจจะจัดให้ความรู้ได้ในรูปนิทรรศการ หรือการอบรมเยาวชน สำหรับภาพกล้วยไม้ เจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในพื้นที่สารมารถติดตามการออกดอก แล้วเลือกถ่ายให้ได้ภาพที่สวยงามเพื่อนำเสนอได้อยู่แล้ว 2. กล้วยไม้บางชนิดขึ้นอยู่ในที่ที่ถูกรบกวนได้ง่าย ควรได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่เป็นพิเศษ เช่น ตูบหมูบมดลิ่น (Habenaria humistrata Rolfe ex Downie) ขึ้นอยู่บริเวณลานหินงาม อาจถูกเหยียบย่ำได้ง่าย หรือ เอื้องกีบม้าขาว (Bulbophyllum propinquum Kraetzl) ขึ้นบนก้อนหินบริเวณสุดแผ่นดินซึ่งมีนักท่องเที่ยวมาก ก็อาจถูกเหยียบย่ำได้ง่ายเช่นเดียวกัน บางชนิดมีความสวยงามมาก อาจถูกลักลอบเก็บหาได้ง่าย เช่น ว่านหัวครู หรือว่านดิน (Eulophia spectabilis (Dennst.) Suresh.) เอื้องครั่งแสด หรือเอื้องสายสีแสด (Dendrobium unicum Seidenf.) เอื้องคำกิ่ว (Dendrobium signatum Rchb. f.) เอื้องเงิน หรือเอื้องตึง (Dendrobium draconis Rchb. f.) เป็นต้น เอกสารอ้างอิงภาษาไทยราชบัณฑิตยสถาน 2541. ศัพท์พฤกษศาสตร์ อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กรุงเทพมหานคร: ราชบัณฑิตยสถาน. สมราน สุดดี 2538. การศึกษาอนุกรมวิธานของพรรณไม้ดอก บริเวณวนอุทยานป่าหินงาม จังหวัดชัยภูมิ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อบฉันท์ ไทยทอง 2543. กล้วยไม้เมืองไทย กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์บ้านและสวน.
ภาษาอังกฤษBacker, C. A. & Bakhuizen Van Den Brink, R. C. 1968. Flora of Java 3. Wolters- Noordhoff N.V., Groningen. Bentham, G. & Hooker, J. D. 1883. Genera Plantarum 3. Reeve & Co, London. Bridson, G. D. R. 1991. B-P-H/S: Botanico-Periodicum-Huntianum/Supplementum. Hunt Institute for Botanical Documentation, Pittsburgh. Brummitt, R. K. & Powell, C. E. 1992. Authors of Plant Names. Royal Botanic Gardens, Kew. Cumberlege, P. F. & Cumberlege, V. M. S. 1963. A preliminary list of the orchids of Khao Yai National Park. The Natural History Bulletin of the Siam Society 20: 155-182. Downie, D. G. 1925. Contributions to the Flora of Siam. Additamentum XVI. Bulletin of Miscellaneous Information (Royal Botanic Gardens) Kew 1925: 367-394. Downie, D. G. 1925. Contributions to the Flora of Siam. Additamentum XVII. Bulletin of Miscellaneous Information (Royal Botanic Gardens) Kew 1925: 404-423. Du Puy, D. & Cribb, P. 1988. The Genus Cymbidium. Christopher Helm, London. Grant, B. 1895. The Orchids of Burma. Hanthawaddy Press, Rangoon. Hooker, J. D. 1888. Flora of British India 5. L. Reeve & Co., Kent. Hooker, J. D. 1890. Flora of British India 6. L. Reeve & Co., Kent. Holttum, R. E. 1953. Orchids of Malaya. A Revised Flora of Malaya. Government Printing Office, Singapore. Holttum, R. E. 1957. Orchids of Malaya. A Revised Flora of Malaya, 2nd ed. Government Printing Office, Singapore. Isaac-Williams, M. 1988. An Introduction to the Orchids of Asia. Angus & Robertson Publishers, London. Jacobs, M. 1962. Reliquiae Kerrianae. Blumea 11: 427-493. Kerr, A. D. 1969. On a Collection of Orchids from Laos. The Natural History Bulletin of the Siam Society 23: 185-211. Loureiro, J. 1790. Flora Cochinchinensis 2. Ulyssipone. Minderhoud, M. E. & Vogel, E. B. DE 1986. A Taxonomic Revision of the Genus Acriopsis Reinwardt ex Blume (Acriopsidinae, Orchidaceae). Orchid Monographs 1. E. J. Brill, Leiden.Schuiteman, A. & Vogel, E. B. DE 2000. Orchid Genera of Thailand, Laos, Cambodia, and Vietnam. National Herbarium Nederland. Schultes, R. E. & Pease, A. S. 1963. Generic Names of Orchids: The Origin and Meaning. Academic Press, London. Seidenfaden, G. 1973. Contributions to the Orchid Flora of Thailand V. Botanisk Tidsskrift 68(1): 41-95. Seidenfaden, G. 1975. Orchid Genera in Thailand II. Cleisostoma Blume. Dansk Botanisk Arkiv 29(3). Seidenfaden, G. 1975. Orchid Genera in Thailand III. Coelogyne Lindl. Dansk Botanisk Arkiv 29(4). Seidenfaden, G. 1977. Orchid Genera in Thailand V. Orchidoideae. Dansk Botanisk Arkiv 31(3). Seidenfaden, G. 1979. Orchid Genera in Thailand VIII. Bulbophyllum Thouars. Dansk Botanisk Arkiv 33(3). Seidenfaden, G. 1982. Orchid Genera in Thailand X. Trichotosia Blume and Eria Lindl. Opera Botanica 62. Seidenfaden, G. 1983. Orchid Genera in Thailand XI. Cymbidieae Pfitz. Opera Botanica 72.Seidenfaden, G. 1985. Orchid Genera in Thailand XII. Dendrobium Sw. Opera Botanica 83. Seidenfaden, G. 1986. Orchid Genera in Thailand XIII. Thirty-three epidendroid Genera. Opera Botanica 89. Seidenfaden, G. 1988. Orchid Genera in Thailand XIV. Fifty-nine vandoid Genera. Opera Botanica 95. Seidenfaden, G. 1992. The Orchids of Indochina. Opera Botanica 114. Seidenfaden, G. & Smitinand, T. 1959-1965. The Orchids of Thailand. A Preliminary List. The Siamsociety. Bangkok. Seidenfaden, G. & Wood, J. J. 1992. The Orchids of Peninsular Malaysia and Singapore. Olsen & Olsen, Fredensborg. Stafleu, F. A. & Cowan, R. S. 1976-1988. Taxonomic literature: A selective guide to botanical publications and collections with dates, commentaries and types. Bohn, Scheltema & Holkema, Utrecht. Stafleu, F. A. & Mennega, E. A. 1992-2000. Taxonomic literature: A selective guide to botanical publications and collections with dates, commentaries and types. Koeltz Scientific Books, Königstein. Thaithong, O. 1999. Orchids of Thailand. Office of Environmental Policy and Planning, Bangkok. Vogel, E. B. DE 1988. Revision in Coelogyninae (Orchidaceae) III. The genus holidota. Orchid Monographs 3. E. J. Brill, Leiden. Vogel, E. B. DE 1992. Revision in Coelogyninae (Orchidaceae) IV. Coelogyne Section Tomentosae. Orchid Monographs 6. E. J. Brill, Leiden. |
©
2001-2009 All rights reserved
Forest Herbarium (BKF)
National Park, Wildlife and Plant Conservation Department
61 Phahonyothin Rd., Chatuchak, Bangkok 10900 Thailand