Dendrobium
Sw., Nova. Acta Regiae
Soc, Sci. Upsal 6: 82 (1799); Benth. & Hook. f., Gen. Pl. 3: 498 (1883).
กล้วยไม้อิงอาศัย
เจริญเติบโตแบบแตกกอ ลำลูกกล้วยสั้นและอวบน้ำ หรือยืดยาวคล้ายลำต้น
ปล้องมักพองออก ใบไม่มีก้านใบ ใบบางหรือหนา ใบแก่มักหลุดร่วง ช่อดอกแบบช่อกระจะ
เกิดที่ด้านข้างหรือที่ใกล้ปลายของลำลูกกล้วย ดอกมีหนึ่งถึงหลายดอก
ออกดอกระหว่างมีใบหรือใบร่วงหมดแล้ว กลีบเลี้ยงมีขนาดใกล้เคียงกัน
กลีบเลี้ยงคู่ข้างเชื่อมกันที่ฐานของเส้าเกสรเกิดเป็นคาง (mentum)
กลีบดอกมีขนาดเล็กหรือใหญ่กว่ากลีบเลี้ยง มักมีลักษณะบางกว่า
กลีบปากมีฐานเรียวแคบ ติดอยู่กับฐานของเส้าเกสร
แฉกข้างมีขนาดใหญ่และกางออกหรือแฉกข้างไม่มี แฉกกลางแคบหรือกว้าง แบน โค้ง
หรือเป็นถุง ด้านในของกลีบปากมักมีสันตามยาว เส้าเกสรสั้น มีฐานสั้นหรือยาว
ปลายด้านบนมีเขาสั้น ๆ ข้างละ 1 อัน ก้อนเรณูมี 4 ก้อน รูปไข่หรือขอบขนาน
อยู่เป็นคู่ ๆ ละ 2 ก้อน ไม่มีฐานก้อนเรณู
รูปวิธานแยกชนิด
1. กาบใบหรือส่วนอื่น ๆ
ของลำลูกกล้วยมีขนสีดำ ดอกสีขาวขนาดใหญ่ ช่อดอกเกิดใกล้ปลายยอด
กลีบปากสีขาว โคนกลีบสีแดง คาง (mentum) ยาว 2 ซม.ขึ้นไป 2.
D. draconis
1. กาบใบหรือส่วนอื่น ๆ ไม่มีขนสีดำ
ดอกขนาดใหญ่หรือเล็ก ช่อดอกเกิดด้านข้างหรือใกล้ปลายยอด คาง (mentum) ยาวต่ำกว่า
1 ซม.
2. ลำลูกกล้วยขนาดเล็ก
มักยาวต่ำกว่า 10 ซม. ช่อดอกเกิดที่ปลายหรือด้านข้างใกล้ปลายของลำลูกกล้วย
ก้านช่อดอกมักยาวกว่า 1 ซม. ใน 1 ช่อมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก กลีบปากมีขอบหยักเป็นคลื่น
ตรงกลางมีสันปลายแหลม 1 สัน 1.
D. compactum
2. ลำลูกกล้วยค่อนข้างเรียวยาว
ช่อดอกเกิดที่ด้านข้างของลำลูกกล้วย ก้านช่อดอกมักยาวต่ำกว่า 1 ซม. ดอกเดี่ยว
หรือ 1 ช่อ มีดอกจำนวนน้อย 2 - 4 ดอก ดอกขนาดกลางถึงขนาดใหญ่กลีบปากไม่มีลักษณะดังกล่าว
3.
ดอกขนาดกลาง มักเป็นดอกเดี่ยว กลีบปากสีส้ม แฉกข้างมีขนาดเล็ก กลางกลีบปากมีสันสีเขียว
3 สัน 3.
D.
ellipsophyllum
3. ดอกขนาดกลางถึงใหญ่ ใน 1 ช่อ มี 2 - 4 ดอก
กลีบปากสีเหลืองหรือแดง ไม่มีแฉกข้าง
4. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีแสด
กลีบปากสีแดง ตรงกลางมีสันสีขาวยาว ลำลูกกล้วยค่อนข้างเล็ก
5.
D. unicum
4.
กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีขาวแกมม่วง กลีบปากสีเหลือง มีสันสั้น ๆ เฉพาะที่ฐานกลีบ
ลำลูกกล้วยขนาดใหญ่ 4.
D. signatum
1. Dendrobium compactum Rolfe ex
W. Hackett, Gard. Chron. 2: 400 (1904); Rolfe in Bull. Misc. Inform. Kew
1906:113 (1906); Seidenf. & Smitinand, Orch. Thailand 2: 233 (1960); Seidenf.
in Opera Botanica 83: 145, fig. 98, pl. XVIIb (1985).
กล้วยไม้อิงอาศัย
ลำลูกกล้วยตั้งขึ้น ยาว 2 - 7 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางที่โคน 0.5 - 0.8 ซม.
ส่วนโคนกว้างกว่าส่วนปลาย ใบเกิดที่ด้านข้างของลำลูกกล้วย เรียงสลับกันเป็น 2 แถว
ใบรูปขอบขนานแกมรูปแถบ หรือขอบขนานแกมใบหอก ขนาด 2 - 5 x 0.5 - 1.2 ซม.
ปลายใบหยักเป็น 2 แฉกตื้น ๆ ไม่เท่ากัน โคนใบเป็นกาบหุ้มรอบลำลูกกล้วย ขอบใบเรียบ
แผ่นใบบาง เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน ช่อดอกเกิดที่ปลายหรือด้านข้างใกล้ปลายลำลูกกล้วย 3
- 6 ช่อ มีดอกขนาดเล็ก จำนวนมาก ก้านช่อดอกยาว 1 - 3 ซม.
ใบประดับตามก้านช่อดอกมีขนาดเล็ก เวลาออกดอกมักไม่พบใบ หรือพบใบน้อย ดอก สีขาว
มีกลิ่นหอม ก้านดอกย่อยยาว 2 - 3 มม. ใบประดับที่ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1.5 มม.
กลีบเลี้ยงอันบนรูปใบหอก ยาวประมาณ 5 x 2 มม. กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปไข่ ยาวประมาณ
5 มม. ฐานกว้างประมาณ 4 มม. กลีบดอกรูปใบหอกกลับแกมรูปไข่กลับ ขนาดประมาณ 5 x 2
มม. ทั้งกลีบดอกและกลีบเลี้ยงมีสีขาว คางยาวประมาณ 5 มม. กลีบปากยาวประมาณ 5 มม.
แฉกข้างไม่ชัดเจน ปลายกลีบปากสีเขียวอ่อน หยักเป็นคลื่น ขอบด้านข้างหยักมน
กลีบปากแผ่ออกกว้างประมาณ 4 มม. ตรงกลางมีสันนูน ปลายแหลม เส้าเกสรขนาด 3 x 1 มม.
ก้านเรณูมี 4 ก้อน ฝาอับเรณูสีเหลือง ผลไม่พบ
ประเทศไทย.- เหนือ:
เชียงใหม่ (ดอยสุเทพ อมก๋อย ดอยขุนห้วยปง); ตะวันออกเฉียงเหนือ: เลย (ภูกระดึง);
ตะวันออก: ชัยภูมิ (ป่าหินงาม)
การกระจายพันธุ์.- พม่า
จีน ไทย
นิเวศวิทยา.-
พบน้อยบนต้นไม้สูงริมหน้าผาสุดแผ่นดิน ออกดอกเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน
ชื่อพื้นเมือง.-
เอื้องข้าวตอก
2. Dendrobium draconis
Rchb. f., Bot. Zeit.: 214 (1862); Hook. f. in Fl. Brit. India 5: 722 (1890);
Grant, Orch. Burma : 86 (1895); Holttum Rev. Fl. Malaya 1: 296 (1957); Seidenf.
& Smitinand, Orch. Thailand 2: 228, pl. X (1960); Back. & Bakh. f., Fl. Java
3: 356 (1968); Seidenf. in Opera Botanica 83: 110, fig. 66, pl. XIVd (1985);
114: 211 (1992).- D. eburneum Rchb. f. ex Bateman in Bot. Mag.: 5459
(1864).- D. andersonii J. Scott in J. Agric. Hort. Soc. Ind. n. s. 3:
117 (1882).- Callista draconis (Rchb. f.) Kuntze, Rev. Gen. 2: 654
(1891).
กล้วยไม้อิงอาศัย
ลำลูกกล้วยตั้งขึ้น ยาวได้ถึง 30 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 - 1.5 ซม.
ลำรูปกระสวยหรือมีส่วนโคนเรียวแคบ ลำอ่อนมีขนสีดำหนาแน่น ลำแก่ขนหลุดร่วงไป
เหลืออยู่บ้างบริเวณกาบใบ ใบเกิดที่ด้านข้างของลำลูกกล้วย เรียงสลับกันเป็น 2 แถว
ใบรูปใบหอกขนาด 4 - 10 x 2 - 2.5 ซม. ปลายใบหยักเป็น 2 แฉกตื้น ๆ ไม่เท่ากัน
โคนใบเป็นกาบหุ้มรอบลำลูกกล้วย ขอบใบเรียบ แผ่นใบเหนียวคล้ายแผ่นหนัง มีขนสั้น ๆ
ทั้งสองด้าน ช่อดอกออกที่ด้านข้างหรือที่ปลายยอดของลำลูกกล้วย 2 - 3 ช่อ ใน 1
ช่อมี 2 - 5 ดอก ก้านช่อดอกสั้นประมาณ 5 มม. มีใบประดับสั้น ๆ
หลายใบหุ้มซ้อนทับกัน เวลาออกดอกพบทั้งที่มีใบและไม่มีใบ ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม
ก้านดอกย่อยสีขาว ยาว 2 - 5 ซม. ใบประดับที่ก้านดอกย่อยยาว 5 - 8 มม.
กลีบเลี้ยงอันบนรูปใบหอก ขนาด 2.5 - 3.5 x 0.7 - 1 ซม. กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปเคียว
ฐานกว้าง 0.8 - 1 ซม. ยาว 3.5 - 4 ซม. กลีบดอกรูปไข่แกมรูปใบหอก ขนาด 3 - 3.5 x 1
- 1.5 ซม. ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีขาว เป็นมันสะท้อนแสง คางมีลักษณะตรง ยาว 2
- 2.5 ซม. กลีบปากยาว 3 - 3.5 ซม. แฉกข้างปลายมน เมื่อกางอกทั้ง 2 ข้าง กว้าง 1.5
- 2 ซม. บริเวณฐานแฉกและฐานกลีบปากมีสีแดง แฉกกลางสีขาว รูปรี กว้าง 1.4 - 1.6 ซม.
ขอบหยักมน เส้าเกสร ขนาด 5 x 3 มม. ด้านหน้ามีสีแดง ก้อนเรณูสีเขียวอ่อน 4 ก้อน
ผลแห้งแล้วแตก ขนาด 4 x 3.8 ซม.
ประเทศไทย.- เหนือ:
ตาก (แม่ระมาด) แม่ฮ่องสอน (ขุนยวม) เชียงใหม่ (แม่แจ่ม ดอยสะเก็ด ดอยสุเทพ
ดอยอินทนนท์) พะเยา (งาว) แพร่ (ร้องกวาง) อุตรดิตถ์ (น้ำปาด);
ตะวันออกเฉียงเหนือ: เพชรบูรณ์ (น้ำหนาว) เลย (ด่านซ้าย) สกลนคร (ภูพาน);
ตะวันออก: ชัยภูมิ (หนองบัวแดง ป่าหินงาม) อุบล ศรีสะเกษ (เขาพระวิหาร)
นครราชสีมา (เขาใหญ่); ตะวันตกเฉียงใต้: กาญจนบุรี (เขาเด่น);
ตะวันออกเฉียงใต้: ปราจีนบุรี (กระบินทร์บุรี)
การกระจายพันธุ์.- อินเดีย
พม่า ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา
นิเวศวิทยา.-
พบทั่วไปในที่มีแสงค่อนข้างมาก ออกดอกและผลระหว่างเดือนมีนาคม - กรกฎาคม
ชื่อพื้นเมือง.-
เอื้องเงิน เอื้องตึง
3. Dendrobium
ellipsophyllum Tang & Wang in Acta Phytotax.
Sin. 1(1) : 81 (1951); Seidenf. in Opera Botanica 83: 180, fig. 124, pl. XXa
(1985); 114: 238 (1992).- D. revulatum (non Lindl.) Rchb. f. in Trans.
Linn. Soc. 30(1) : 151 (1874); Seidenf. & Smitinand, Orch. Thailand 2: 248,
fig. 186 (1960), pro parte.
กล้วยไม้อิงอาศัย
ลำลูกกล้วยตั้งขึ้น ยาวได้ถึง 60 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.4 - 1 ซม.
ส่วนโคนลำแคบกว่าส่วนกลาง ลำลูกกล้วยมักเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว
ใบออกที่ด้านข้างของลำลูกกล้วย เรียงเป็น 2 แถว ใบรูปไข่ ขนาด 1.5 - 2.5 x 1.5 -
2 ซม. ชี้ขึ้นเป็นแนวเฉียงกับลำลูกกล้วย ปลายใบหยักเป็น 2 แฉกไม่เท่ากัน
โคนใบเป็นกาบหุ้มรอบลำลูกกล้วย ขอบใบเรียบ แผ่นใบเหนียวคล้ายแผ่นหนัง
ผิวด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน เส้นกลางใบเห็นชัดเจนทางด้านล่าง
ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ ก้านดอกสีขาว ยาว 1 ซม.
ใบประดับที่ก้านดอกมีขนาดเล็ก 2 - 3 ใบ กลีบเลี้ยงอันบนรูปไข่ ฐานกว้างประมาณ 5
มม. ยาวประมาณ 1 ซม. กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปไข่แกมรูปใบหอก ฐานกว้าง 5 - 6 มม.
ความยาวจากปลายคางถึงปลายกลีบ 1.7 - 1.8 ซม. กลีบดอกรูปหอก ขนาด 1 - 1.2 x 0.3 -
0.4 ซม. ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีสีขาว ปลายม้วนไปด้านหลัง คางยาว 7 - 8 มม.
กลีบปากสีส้มอ่อน ยาว 1.5 - 1.8 ซม. แฉกข้างอยู่ค่อนมาทางโคนกลีบปาก มีขนาดเล็ก
ปลายแหลม แฉกกลางคล้ายรูปสี่เหลี่ยม กว้าง 1.2 - 1.5 ซม. ปลายเว้าเล็กน้อย
ขอบด้านข้างโค้งลง กลางกลีบปากมีสันสีเขียว 3 สัน สันกลางยาวกว่าสันข้าง
เส้าเกสรขนาด 5 x 3 - 4 มม. ใกล้ฐานด้านหน้าเส้าเกสรมีร่อง nectary gland สีเขียว
2 ร่อง ก้อนเรณูมี 4 ก้อน ฝาอับเรณูสีส้มอ่อน ผลแห้งแล้วแตก ขนาด 2.5 - 3 x 1 -
1.5 ซม.
ประเทศไทย.- เหนือ:
ตาก (ดอยมูเซอ) น่าน พิษณุโลก (ทุ่งแสลงหลวง); ตะวันออกเฉียงเหนือ: เลย
เพชรบูรณ์ ; ตะวันออก: ชัยภูมิ (ภูเขียว ป่าหินงาม) ศรีสะเกษ นครราชสีมา (เขาใหญ่);
ตะวันตกเฉียงใต้: กาญจนบุรี (เขาเด่น); ตะวันออกเฉียงใต้: จันทบุรี
(เขาสระบาป) ตราด (เขากวบ); ใต้: พังงา (ตะกั่วทุ่ง)
การกระจายพันธุ์.- พม่า
จีน (ยูนนาน) ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
นิเวศวิทยา.-
พบค่อนข้างน้อย ในที่มีแสงพอประมาณ มักพบเป็นกอใหญ่ ๆ
ออกดอกและผลระหว่างเดือนเมษายน - กันยายน
ชื่อพื้นเมือง.-
เอื้องทอง
4. Dendrobium signatum
Rchb. f., Gard. Chron. 1: 306 (1884); Rolfe in Orch. Rev. 18: 100 (1910);
Seidenf. in Opera Botanica 83: 77, fig. 44, pl. Xb (1985); 114: 234 (1992).-
D. hildebrandii Rolfe in Bull. Misc. Inform. Kew 1894: 182 (1894);
Seidenf. & Smitinand, Orch. Thailand 2: 207 (1960); 4: 772 (1964).- D.
tortile var. heldebrandii (Rolfe) Tang & Wang in Acta Phytotax.
Sin. 1(1): 82 (1951).
กล้วยไม้อิงอาศัย
ลำลูกกล้วยตั้งขึ้น ยาวได้ถึง 50 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 - 2 ซม.
ส่วนโคนเรียวแคบกว่าส่วนปลาย ใบเกิดที่ด้านข้างของลำลูกกล้วย เรียงสลับกันเป็น 2
แถว ใบรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ขนาด 8 - 10 x 2 - 3 ซม. ปลายใบหยักเป็น 2 แฉกตื้น ๆ
ไม่เท่ากัน โคนใบเป็นกาบหุ้มรอบลำลูกกล้วย ขอบใบเรียบ แผ่นใบเหนียวคล้ายแผ่นหนัง
ใบเกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน ช่อดอกออกที่ด้านข้าง
ตั้งแต่บริเวณกึ่งกลางจนถึงใกล้ส่วนปลายของลำลูกกล้วย มีหลายช่อ ใน 1 ช่อมี 2 - 4
ดอก ก้านช่อดอกยาว 0.5 - 2 ซม. ใบประดับที่ก้านช่อดอกยาว 0.3 - 0.8
มีหลายใบหุ้มซ้อนทับกัน ต้นที่ออกดอกมักไม่พบใบ ดอกมีกลิ่นหอม ก้านดอกย่อยยาว 3.5
- 5 ซม. ใบประดับที่ก้านดอกย่อยยาว 0.5 - 1 ซม. กลีบเลี้ยงอันบนรูปขอบขนาน ขนาด
3.5 - 4 x 1 - 1.2 ซม. ปลายมน กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ขนาด 4 -
4.5 x 1 ซม. ปลายแหลม กลีบดอกรูปไข่แกมรูปใบหอก ขนาด 4 x 1.5 - 1.8 ซม.
ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีสีขาวอมม่วง ขอบและปลายกลีบมักบิดโค้ง คางยาวประมาณ 8
มม. กลีบปากตรงกลางสีเหลืองเข้ม ขอบสีเหลืองอ่อน กลีบรูปไข่ ยาว 3 - 3.5 ซม.
ปลายกลีบแหลมหรือมน โคนกลีบตัด มีก้านสั้น ๆ ขอบกลีบส่วนกลางและปลายโค้งออก
ขอบกลีบที่โคนม้วนเข้าซ้อนเหลื่อมกันเกิดเป็นท่อ โคนกลีบปากมีกลุ่มเส้นสีดำ 2
กลุ่ม แผ่นกลีบปากมีขนแบบกำมะหยี่ปกคลุมทั้ง 2 ด้าน เส้าเกสรสีเขียว ขนาด 4 x 3
มม. 2 ข้างยอดเกสรเพศเมีย มีเส้นสีดำตามยาว ฝาอับเรณูสีม่วงอ่อน ก้อนเรณู 4 ก้อน
ผลเป็นแบบผลแห้งแตก ขนาด 6 x 2 ซม.
ประเทศไทย.- เหนือ:
แม่ฮ่องสอน (แม่สะเรียง) เชียงใหม่ (ดอยสุเทพ ดอยสะเก็ด เชียงดาว) พะเยา (งาว)
พิษณุโลก (นครไทย ทุ่งแสลงหลวง ภูเมี่ยง): ตะวันออกเฉียงเหนือ: เพชรบูรณ์
(น้ำหนาว) เลย (ด่านซ้าย); ตะวันออก: ชัยภูมิ (ป่าหินงาม)
การกระจายพันธุ์.- พม่า
ลาว และไทย
นิเวศวิทยา.-
พบทั่วไปบนต้นไม้ ตั้งแต่ระดับพื้นดินจนถึงกิ่งสูง ๆ ในป่าเต็งรัง
ออกดอกและผลระหว่างเดือนมีนาคม - กรกฎาคม
ชื่อพื้นเมือง.-
เอื้องคำกิ่ว เอื้องตีนนก เอื้องตีนเป็ด
5. Dendrobium unicum
Seidenf. in Bot. Tidsskr. 65: 332, fig. 12 (1970); Hunt in Bot. Mag. n. s.
179, 1; t. 616 (1972); Seidenf. in Opera Botanica 83: 40, fig. 18, pl. IVa
(1985); 114: 227 (1992).
กล้วยไม้อิงอาศัย
ลำลูกกล้วยแตกเป็นกอจากเหง้าสั้น ๆ ลำมักตั้งขึ้น ยาวได้ถึง 18 ซม.
เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 - 1 ซม. ที่ปลายและโคนมักแคบกว่าส่วนกลาง ลำอ่อนมีใบ 2 - 3
ใบที่ปลาย ลำแก่มักไม่พบใบ ใบรูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ขนาด 4 - 7 x 0.5 -
2 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบเป็นกาบหุ้มรอบลำลูกกล้วย
ขอบใบเรียบหรือบิดเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบสีเขียวเข้ม
ช่อดอกออกที่ด้านข้างของลำลูกกล้วย 2 - 4 ช่อ ใน 1 ช่อมี 2 - 3 ดอก ก้านช่อดอกยาว
5 - 7 มม. ใบประดับที่โคนก้านช่อยาว 3 - 4 มม. เวลาดอกออกมักไม่พบใบ ดอกสีแสด
ก้านดอกย่อยสีส้มอ่อน ยาว 2.2 - 2.4 ซม. ใบประดับที่ก้านดอกย่อยยาว 2.5 มม.
กลีบเลี้ยงอันบนรูปขอบขนานแกมใบหอก ขนาด 2.4 - 2.5 x 0.4 - 0.5 ซม.
กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปร่างเช่นเดียวกัน ขนาด 2.5 - 2.8 x 0.4 - 0.5 ซม.
กลีบดอกรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ขนาด 2.5 - 2.2 x 0.6 - 0.7 ซม.
ใหญ่กว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย ที่กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมักบิดโค้ง คางยาวประมาณ 5 มม.
กลีบปากรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ขนาด 2.3 - 2.5 x 1 ซม. ขอบม้วนเข้า
โดยเฉพาะที่โคนกลีบมีขอบม้วนซ้อนทับกัน ตรงกลางกลีบปากมีสันยาวโดยตลอด
ตามสันมีเกล็ดสีขาวสะท้อนแสงปกคลุม มีเส้นสีม่วงเข้มจำนวนมากจากสันไปสู่ขอบกลีบ
ปลายเส้นมักแตกเป็น 2 แขนง เส้าเกสรสั้น ขนาด 2.5 x 2 มม. ก้านเรณูมี 4 ก้อน
ผลแห้งแตก ขนาด 2 x 1.2 ซม.
ประเทศไทย.- เหนือ:
เชียงใหม่ (ออมก๋อย); ตะวันออกเฉียงเหนือ: เลย (ภูเรือ ภูหลวง);
ตะวันออก: ชัยภูมิ (ภูเขียว ป่าหินงาม)
การกระจายพันธุ์.- ลาว
และไทย
นิเวศวิทยา.-
พบน้อยบริเวณใกล้หน้าผาสุดแผ่นดิน ออกดอกและผลระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม
ชื่อพื้นเมือง.-
เอื้องครั่งแสด เอื้องสายสีแสด
|