การศึกษาอนุกรมวิธานของพืชวงศ์กล้วยไม้ บริเวณอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จังหวัดชัยภูมิ
(Taxonomic Study on Orchidaceae in the Pa-Hin-Ngam National Park, Changwat Chaiyaphum)


รายชื่อกล้วยไม้ บริเวณอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม
(List of orchids found in the Pa-Hin-Ngam
National Park)

  • Acriopsis indica Wight นมหนู
  • Aerides houlettiana Rchb. f. กุหลาบเหลืองโคราช
  • Bromheadia aporoides Rchb. f. เอื้องจำปา
  • Bulbophyllum affine Lindl. สิงโตงาม สิงโตประหลาด
  • Bulbophyllum blepharistes Rchb. f. สิงโตกลอกตา สิงโตสมอหิน
  • Bulbophyllum lemniscatoides Rolf สิงโตขนตาแดง
  • Bulbophyllum lepidum (Blume) J. J. Sm สิงโตพัดแดง
  • Bulbophyllum parviflorum Par. & Rchb. f. สิงโตรวงข้าวน้อย
  • Bulbophyllum propinquum Kraetzl เอื้องกีบม้าขาว
  • Cleisostoma simondii (Gagnep.) Seidenf. เอื้องสร้อยทับทิม
  • Coelogyne brachyptera Rchb. f. เอื้องเทียน เอื้องลำเทียนปากดำ
  • Coelogyne cumingii Lindl. เอื้องมัน
  • Coelogyne trinervis Lindl. เอื้องหมาก
  • Cymbidium aloifolium (L.) Sw. กะเรกะร่อน
  • Dendrobium compactum Rolfe ex W. Hackett เอื้องข้าวตอก
  • Dendrobium draconis Rchb. f. เอื้องเงิน เอื้องตึง 
  • Dendrobium ellipsophyllum Tang & Wang เอื้องทอง 
  • Dendrobium signatum Rchb. f.เอื้องคำกิ่วเอื้องตีนนกเอื้องตีนเป็ด 
  • Dendrobium unicum Seidenf. เอื้องครั่งแสด เอื้องสายสีแสด 
  • Doritis pulcherrima Lindl. ม้าวิ่ง 
  • Eria dasypus Rchb. f. เอื้องลำอ้วนดอกขน 
  • Eria pubescens (Hook.) Steud. เอื้องคำหิน 
  • Eulophia macrobulbon (Par. & Rchb. f.) Hook. f. ว่านอึ่ง 
  • Eulophia spectabilis (Dennst.) Suresh. ว่านหัวครู ว่านดิน 
  • Habenaria dentata (Sw.) Schltr. นางอั้วน้อย เอื้องข้าวตอก 
  • Habenaria humistrata Rolfe ex Downie ตูบหมูบมดลิ่น
  • Habenaria rhodocheila Hance ปัดแดง สังหิน
  • Luisia curtisii Seidenf. ขอซิง 
  • Panisea uniflora (Lindl.) Lindl. เอื้องรงรอง 
  • Pecteilis susannae (L.) Raf. นางอั้ว เอื้องตีนกบ นางกราย 
  • Peristylus lacertiferus (Lindl.) J. J. Sm. อั้วจิ๋วหนวดงาม 
  • Pholidota recurva Lindl. เอื้องเหลี่ยมลำต่อ เอื้องข้อต่อ 
  • Polystachya concreta (Jacq.) Garay & Sweet. เอื้องคางอ้ม 
  • Spathoglottis affinis de Vriese หัวข้าวเหนียว 
  • Tainia angustifolia (Lindl.) Benth. & Hook. f. เอื้องสีลา 
  • Thrixspermum centipeda Lour.เอื้องกลีบผอมตะขาบเหลืองตีนตะขาบ 
  • Trichotosia dasyphylla (Par. & Rchb. f.) Kraetzl เอื้องเบี้ยไม้ใบขน สามก้อม 

 


Eria

Lindl., Bot. Reg. 11: t. 904 (1825); Benth. & Hook. f., Gen. Pl. 3: 509 (1883).

กล้วยไม้อิงอาศัยหรือขึ้นบนก้อนหิน เจริญเติบโตแบบแตกกอ ลำลูกกล้วยผอมบางหรือหนาอวบน้ำ สั้นหรือยาว มีข้อเดียวหรือหลายข้อ ใบมีหนึ่งใบหรือมีหลายใบ ออกตามด้านข้างหรือออกเฉพาะที่ปลายลำลูกกล้วย ใบหนาหรือบาง มีหรือไม่มีก้านใบ ใบคงอยู่หรือหลุดร่วงเมื่อแก่ ใบประดับขนาดเล็กหรือใหญ่ กลีบเลี้ยงคู่ข้างเชื่อมกันที่ฐานของเส้าเกสร เกิดเป็นคาง กลีบปากมี 3 แฉก หรือแฉกข้างหายไป ก้นเรณูมี 8 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 4 ก้อน มีก้านก้อนเรณู

รูปวิธานแยกชนิด

ช่อดอกเกิดใกล้ฐานของลำลูกกล้วย ช่อดอกมักยาว มีดอกหลายดอก ดอกบานวัดจากปลายกลีบเลี้ยงคู่ข้าง กว้างประมาณ 3 ซม. สันที่กลีบปากเกลี้ยง ลำลูกกล้วยรูปไข่ ใบหนาอวบน้ำ มักขึ้นบนก้อนหิน 2. E. pubescens

ช่อดอกเกิดใกล้ปลายของลำลูกกล้วย ช่อดอกสั้น 1 ช่อมีดอก 4 - 5 ดอก ดอกบานวัดจากปลายกลีบเลี้ยงคู่ข้าง กว้าง 0.8 - 1 ซม. สันที่กลีบปากมี 2 สันที่มีขน ลำลูกกล้วยรูปไข่กลับ ใบบาง ไม่อวบน้ำ มักเกาะบนต้นไม้ 1. E. dasypus

1. Eria dasypus Rchb. f., Bot. Zeit. 22, Jahrg. no. 39: 415 (1864); Hook. f. in Fl. Brit. India 5: 802 (1890); Grant, Orch. Burma: 137 (1895); Seidenf. in Opera Botanica 62: 115, fig. 68, pl. VIIIc (1982).- Pinalia dasypus (Rchb. f.) Kuntze, Rev. Gen. 2: 679 (1891).- Eria alba (non Lindl.) Cumberlege in Nat. Hist. Bull. Siam Soc. 20(3): 166 (1963).

   กล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วยรูปไข่กลับ ตั้งขึ้น ขนาด 4 - 6 x 1.5 - 1.8 ซ.ม. อวบน้ำ มีหลายข้อ ลำลูกกล้วยเกาะเป็นกลุ่มชิดกัน ใบ มี 2 - 5 ใบ ใกล้ปลายลำลูกกล้วย ใบรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับ ขนาด 2.5 - 7 x 1 - 1.5 ซม. ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบบาง เหนียวคล้ายแผ่นหนัง ไม่อวบน้ำ เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน ช่อดอก แบบช่อกระจะ เกิดด้านข้างใกล้ปลายลำลูกกล้วย มีขนสีขาวสั้น ๆ ปกคลุมหนาแน่น 1 ช่อ มี 4 - 5 ดอก ก้านช่อดอกยาว 1 - 1.5 ซม. หนาประมาณ 1.5 มม. ใบประดับที่ใกล้โคนก้านช่อมีสีเขียว เป็นแผ่นบางรูปไข่กว้าง ยาว 5 - 8 มม. ปลายเป็นติ่ง เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน ดอกสีเหลืองอ่อน ออกเรียงสลับไปตามแกนช่อดอก ดอกบานกว้างประมาณ 0.8 - 1 ซม. ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1.5 ซม. มีขนสั้นสีขาวนุ่มปกคลุม ใบประดับที่ก้านดอกย่อยเหมือนใบประดับที่ก้านช่อดอกแต่มีขนาดเล็กกว่า กลีบเลี้ยงอันบนรูปใบหอก ขนาด 9 x 3 มม. ปลายแหลมโค้งเข้า กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปไข่แกมรูปใบหอกฐานเบี้ยว ส่วนกว้างที่ฐานประมาณ 6 มม. ยาว 6 - 7 มม. ปลายแหลมบิดออกทางด้านข้าง กลีบเลี้ยงทั้งหมดด้านหน้ามีสีเหลืองอ่อน เกลี้ยง ด้านหลังมีขนนุ่มสั้นสีขาวปกคลุม กลีบดอกรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก สีเหลืองอ่อน ขนาด 7 x 3 มม. เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน กลีบปากมี 3 แฉก โคนกลีบติดกับปลายฐานเส้าเกสร แฉกข้างตั้งขึ้น แฉกกลางปลายมีสีน้ำตาล ม้วนลง ตรงกลางแฉกมีสัน 3 สัน 2 สันข้างมีขน สันกลางเกลี้ยง เส้าเกสรสีเหลืองอ่อน ขนาด 4 x 2 มม. ฝาอับเรณูสีเหลือง ผลแห้งแล้วแตก ขนาด 15 - 17 x 3.5 - 5 มม. มีขนสีขาวสั้น ๆ ปกคลุม

ประเทศไทย.- เหนือ: เชียงใหม่ (แม่สะนาม บ่อหลวง); ตะวันออกเฉียงเหนือ: เลย (ภูกระดึง); ตะวันออก: นครราชสีมา (เขาใหญ่); ตะวันตกเฉียงใต้: กาญจนบุรี (ศรีสวัสดิ์); ตะวันออกเฉียงใต้: จันทบุรี (ขลุง)

การกระจายพันธุ์.- พม่า และไทย

นิเวศวิทยา.- พบพอประมาณตามต้นไม้ที่มีแสงมาก ออกดอกและผลระหว่างเดือนกันยายน - ธันวาคม

ชื่อพื้นเมือง.- เอื้องลำอ้วนดอกขน

2. Eria pubescens (Hook.) Steud., Nom. Bot. 2, ed. 1: 566 (1840); Seidenf. in Opera Botanica 62: 60, figs. 29, 30 & 32 (1982); 114: 177 (1992); Seidenf. & Wood, Orch. Pen. Mal. & Sing.: 277, figs. 119a-d (1992).- E. flava Lindl., Gen & Sp. Orchid. Pl.: 65 (1830).- E. albidotomentosa (Blume) Lindl., Gen. Sp. Orchid. Pl.: 66 (1830); Holttum, Rev. Fl. Malaya 1: 372, fig. 110 (1953); Seidenf. in Opera Botanica 62: 60, fig. 33, pl. IIId (1982).

   กล้วยไม้ขึ้นบนก้อนหิน ลำลูกกล้วยรูปไข่ ตั้งขึ้น ขนาด 6 x 3 - 4 ซม. อวบน้ำ มีข้อหลายข้ออยู่ห่างหรือชิดกัน มีเหง้าระหว่างลำลูกกล้วย ใบ มี 3 - 5 ใบ ใกล้ปลายลำลูกกล้วย ใบรูปรีแกมรูปใบหอก ขนาด 6 - 10 x 2.5 - 3 ซม. ปลายใบแหลมเรียว โคนใบเป็นกาบหุ้มซ้อนทับกัน ขอบใบเรียบ แผ่นใบโค้งออกด้านนอก ใบอวบน้ำ เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน ช่อดอกแบบช่อกระจะ เกิดจากตาข้างใกล้ฐานของลำลูกกล้วย มีขนยาวสีขาวปกคลุมหนาแน่น 1 ช่อมีหลายดอก ก้านช่อดอกยาว 10 - 12 ซม. หนาประมาณ 3 มม. โคนก้านช่อมีใบประดับคล้ายใบที่ลดขนาดลงหุ้มซ้อนทับกันไปตามก้านช่อดอก 4 - 5 ซม. ดอก สีเหลืองอ่อน ออกเรียงสลับกันไปตามแกนช่อดอก ดอกบานกว้างประมาณ 3 ซม. ก้านดอกย่อยยาว 1.5 - 3 ซม. มีขนสีขาวนุ่มปกคลุม ใบประดับที่ก้านดอกย่อยสีเขียวอ่อน มีขนาดใหญ่ ยาว 2.5 - 3 ซม. กลีบเลี้ยงอันบนรูปใบหอก ขนาด 1.5 x 0.6 ซม. ปลายแหลมโค้งออก กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปไข่แกมรูปใบหอก ฐานเบี้ยว ส่วนกว้างที่ฐานประมาณ 1 ซม. ส่วนกว้างที่ฐานประมาณ 1 ซม. ยาว 1.5 - 1.8 ซม. ปลายแหลมบิดไปด้านหลัง กลีบเลี้ยงทั้งหมดด้านหน้าเกลี้ยง มีสีเหลืองอ่อน ด้านหลังมีขนนุ่มสีขาว กลีบดอกรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก สีเหลืองอ่อน ขนาด 1.3 x 0.4 ซม. เกลี้ยงทั้งสองด้าน กลีบปากสีน้ำตาล มี 3 แฉก โคนกลีบสีขาวอมเหลือง ติดอยู่กับปลายฐานเส้าเกสร แฉกข้างตั้งขึ้น แฉกกลางชี้ไปข้างหน้า มีสันตรงกลางบริเวณปลายแฉก เส้าเกสรสีเหลืองอ่อน ขนาด 5 x 3 มม. ฝาอับเรณูสีเหลือง ผลแห้งแล้วแตก ขนาด 3 - 4 x 0.7 - 0.9 ซม.

ประเทศไทย.- พบทั่วประเทศ

การกระจายพันธุ์.-บริเวณกระจายพันธุ์กว้างตั้งแต่ตะวันออกเฉียงเหนือเทือกเขาหิมาลัยถึงฮ่องกง และต่ำลงมาทางไทย มาเลเซีย จนถึงอินโดนีเซีย

นิเวศวิทยา.- พบมากบนก้อนหินในที่โล่ง ออกดอกและผลระหว่างเดือนตุลาคม - ธันวาคม

ชื่อพื้นเมือง.- เอื้องคำหิน