ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ส่วนมากสูงไม่เกิน 10 ม. หรืออาจสูงได้ถึง 40 ม. หูใบติดระหว่างก้านใบ รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8–1.8 ซม. ร่วงเร็ว ใบประกอบปลายคี่ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบย่อยมี 3–6 คู่ รูปใบหอก ยาว 2.5–12 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนเบี้ยว ขอบจักมนหรือจักซี่ฟัน เกือบไร้ก้าน ใบปลายรูปไข่แคบ สั้นกว่าใบข้าง ก้านยาวได้ถึง 1 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบ ออกเป็นกลุ่ม 1–3 คู่ แต่ละกลุ่มมี 2 หรือ 3 ช่อ ตั้งตรง ยาว 7.5–15 ซม. ก้านช่อยาว 0.3–1.8 ซม. แกนช่อมีขนสั้นนุ่ม ดอกมีเพศเดียวหรือสมบูรณ์เพศ ก้านดอกยาว 1.5–3 มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 4–5 กลีบ กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม เรียงซ้อนเหลื่อม ยาวประมาณ 1 มม. โคนมีขน กลีบดอกรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ยาว 1–2 มม. เกสรเพศผู้ 8–10 อัน เรียง 2 วง ก้านชูอับเรณูยาวกว่ากลีบดอก เป็นหมันในดอกเพศเมีย จานฐานดอกจักเป็นพู รังไข่มี 2 ช่อง พลาเซนตารอบแกนร่วม เป็นหมันในดอกเพศผู้ ก้านเกสรเพศเมีย 2 อัน ยาวเท่า ๆ กลีบดอก ผลแห้งแตกตามรอยประสาน ยาว 2–6 มม. เปลือกสีแดง มีหลายเมล็ด รูปรี ยาวประมาณ 0.8 มม. ปลายมีกระจุกขนทั้งสองด้าน ขนยาวประมาณ 2 มม.
พบในภูมิภาคมาเลเซีย และภาคใต้ตอนล่างของไทยที่ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดยะลา และนราธิวาส ขึ้นตามที่โล่งบนยอดเขา ความสูง 250–1500 เมตร
สกุล Weinmannia L. มีประมาณ 150 ชนิด พบในอเมริกาเขตร้อน มาดากัสการ์ ภูมิภาคมาเลเซีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน Johann Wilhelm Weinmann (1683–1741)
|