ไม้เถา หูใบติดทนหรือร่วงเร็ว ใบประกอบมี 3 ใบย่อย เรียงเวียน มีหูใบย่อย ใบคู่ข้างขนาดเล็กกว่าใบปลายเล็กน้อย ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ใบประดับร่วงเร็ว กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ปลายแยก 4–5 แฉก ขนาดเล็ก ปลายแหลม ดอกรูปดอกถั่ว โคนคอดเป็นก้านกลีบสั้น ๆ โคนมีรยางค์เป็นติ่ง 1–2 อัน กลีบกลางส่วนมากรูปไต ปลายเว้า กลีบปีกส่วนมากรูปไข่กลับ กลีบคู่ล่างรูปคล้ายเคียวหุ้มเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมีย เกสรเพศผู้ มี 10 อัน เชื่อมติดกันเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมี 9 อัน อีกกลุ่มหนึ่งมี 1 อัน รังไข่ไร้ก้าน ก้านเกสรเพศเมียปลายหนา มีขน ยอดเกสรเบี้ยว ฝักแห้งแตกสองแนว
สกุล Vigna อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Faboideae เผ่า Phaseoleae หลายชนิดย้ายมาจากสกุล Phaseolus และ Dolichos มี 100–150 ชนิด พบในเขตร้อน ในไทยมีพืชพื้นเมือง 13–15 ชนิด เป็นพืชต่างถิ่นที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ถั่วเขียว V. radiata (L.) R. Wilczek ถั่วอะซูกิ V. angularis (Willd.) Ohwi & H. Ohashi และถั่วฝักยาว V. unguiculata (L.) Walp. subsp. sesquipedalis (L.) Verdc. เป็นต้น ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวอิตาลี Domenico Vigna (1577–1647)
|