| ไม้ล้มลุก สูง 1.5–3 ม. มีเหง้าแตกแขนง ลำต้นแข็ง ใบออกจากโคนลำต้น มีกาบใบ เรียงเวียนในระนาบเดียวกัน รูปแถบ ยาว 50–120 ซม. แผ่นใบเว้าใกล้เส้นกลางใบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด รูปทรงกระบอก ช่วงดอกเพศผู้ยาว 8–40 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางช่อ 2–7 มม. ใบประดับ 1–3 ใบ ร่วงเร็ว ช่วงดอกเพศเมียยาว 5–30 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางช่อ 0.6–2 ซม. แยกออกจากส่วนดอกเพศผู้ด้วยก้านช่อดอกที่เป็นหมัน ยาว 2.5–7 ซม. ดอกขนาดเล็ก ไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ส่วนมากมี 3 อัน มีขนล้อมรอบ ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูยาว 1.5–2 มม. ดอกเพศเมียมีใบประดับย่อยรูปเส้นด้าย รังไข่รูปกระสวย ก้านเรียว ยาวประมาณ 5 มม. มีขนยาว ติดทน อันที่เป็นหมันไร้ก้าน ก้านเกสรเพศเมียเป็นหลอดยาว 1–1.5 มม. มีขนสั้น ยอดเกสรรูปแถบ ผลขนาดเล็ก รูปรี ห้อยลง มีริ้ว
พบในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามหนองน้ำหรือทะเลสาบ ใบใช้สานเสื่อหรือตะกร้า ช่อดอกแห้งใช้ประดับ ในจีนอับเรณูและลำต้นใช้รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ ส่วนของลำต้นช่วยเพิ่มน้ำนมในสตรีหลังคลอด
สกุล Typha L. เป็นสกุลเดียวของวงศ์ อยู่ภายใต้อันดับ Poales มีประมาณ 16 ชนิด ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “typhos” ที่ชื้นแฉะ ตามลักษณะถิ่นที่อยู่
| | | ชื่อสามัญ Cat tail, Lesser bulrush, Lesser reedmace, Narrow leaf cattail
| ชื่ออื่น กกช้าง (ภาคกลาง); ธูปฤๅษี (ทั่วไป); หญ้าสลาบหลวง (ภาคเหนือ)
| | ธูปฤๅษี: ถิ่นที่อยู่ ขึ้นหนาแน่นตามหนองน้ำที่เปิดโล่ง ช่อดอกเพศผู้อยู่ช่วงบนช่อ ช่อดอกเพศเมียแยกออกจากส่วนดอกเพศผู้ด้วยก้านช่อดอกที่เป็นหมัน ขนยาวติดทน (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)
|
|
|
เอกสารอ้างอิง | Simpson, D.A. (2008). Typhaceae. In Flora of Thailand Vol. 9(2): 176–178. |
| Wee, Y.C. and H. Keng. (1990). An illustrated dictionary of Chinese medicinal herbs. Times Edition Pte Ltd., Time Centre, Singapore. |