Index to botanical names
Menispermaceae
ไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ แยกเพศต่างต้น น้ำยางสีขาว กิ่งอ่อนมีริ้วและขนสั้นนุ่มหนาแน่น ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 10–30 ซม. ปลายแหลมยาว โคนมน กลม หรือเว้าตื้น แผ่นใบมีริ้วละเอียดด้านบน เส้นโคนใบข้างละ 1–2 เส้น ก้านใบยาว 6–20 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะออกหนาแน่นตามกิ่งหรือลำต้น ยาว 5–35 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ดอกเพศผู้ก้านดอกยาว 2.5–5 มม. กลีบเลี้ยง 9 กลีบ เรียง 3 วง วงนอกขนาดเล็ก วงในรูปรี ยาว 4–5 มม. พับงอกลับ กลีบดอก 6 กลีบ รูปรี ยาว 2.5–3.5 มม. เกสรเพศผู้ 6 อัน สั้นกว่ากลีบดอก แกนอับเรณูหนา เป็นหมันในดอกเพศเมีย รูปแถบ ดอกเพศเมียคล้ายดอกเพศผู้ มี 3 คาร์เพล แยกกัน ยอดเกสรจักหลายพูสั้น ๆ เป็นหมันในดอกเพศผู้ ผลผนังชั้นในแข็ง มี 3 ผลย่อย รูปรี ยาวได้ถึง 4 ซม. ติดบนแกนหนา (carpophore) สีเขียวเป็นมันวาว แก่สีขาวหรือเหลือง ผนังชั้นในย่น ยาว 2–2.5 ซม. มีเมล็ดเดียว แบนพบที่จีนตอนใต้ พม่า เวียดนาม คาบสมุทรมลายู และนิวกินี ในไทยพบทางภาคเหนือกระจายลงทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร น้ำยางใช้ทาแก้ปวดข้อ กล้ามเนื้อ ผลใช้เบื่อปลาสกุล Tinomiscium Miers ex Hook.f. & Thomson อาจมีเพียงชนิดเดียว หรือมีได้ถึง 7 ชนิด พบเฉพาะในเอเชียเขตร้อน ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “tinus” พืช และภาษากรีก “mischos” ลำต้น หมายถึงพืชที่ออกดอกตามลำต้น
ชื่ออื่น ขมิ้นฤๅษี, เครือแหม (หนองคาย); ปลาร้าห่อทอง (ภาคกลาง); ย่านตองขาว (ตรัง)
ขมิ้นฤๅษี: ไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ช่อดอกแบบช่อกระจะออกหนาแน่นตามลำต้น ผลมี 3 ผลย่อย ผลอ่อนสีเขียว เป็นมันวาว (ภาพ: Martin van de Bult)
Forman, L.L. (1991). Menispermaceae. In Flora of Thailand Vol. 5(3): 303–306.
Hu, Q., X. Luo, T. Chen and M.G. Gilbert. (2008). Menispermaceae. In Flora of China Vol. 7: 6.