ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 5 ม. ลำต้นมีหนาม กิ่งเป็นเหลี่ยม หูใบเปลี่ยนรูปเป็นหนามแข็ง ยาว 0.5–2 ซม. ใบประกอบ 2 ชั้น แกนกลางใบประกอบยาว 1–3 ซม. มีครีบเป็นปีก กว้างประมาณ 5 มม. ใบประกอบย่อยมีคู่เดียว แกนกลางยาวประมาณ 2 ซม. ก้านสั้น มีครีบเป็นปีก มีต่อมระหว่างก้านใบและก้านใบย่อย หูใบย่อยเป็นหนาม ใบย่อยมี 1–3 คู่ ไร้ก้าน รูปรีหรือรูปไข่กลับ เบี้ยว ยาว 2.5–6 ซม. ปลายแหลม มีติ่งหนาม โคนกลมหรือรูปลิ่ม เบี้ยว แผ่นใบบาง ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่นหรือช่อคล้ายช่อซี่ร่มแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบ กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ยาวประมาณ 2 มม. ปลายจัก 5 จัก รูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ดอกรูประฆัง ยาวประมาณ 6 มม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบ รูปไข่ ยาวประมาณ 2 มม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวเท่าๆ หลอดกลีบดอก รังไข่เกลี้ยง มีก้านสั้น ๆ ฝักอ่อนบิดเป็นเกลียว ฝักแก่เกือบตรง แบน รูปแถบ กว้างประมาณ 2 ซม. ยาวได้ถึง 20 ซม. คอดตามเมล็ด เมล็ดรูปรี แบน ยาวประมาณ 1.3 ซม. เว้าทั้งสองด้าน
พืชถิ่นเดียวของไทย พบกระจายห่าง ๆ ทางภาคเหนือที่ตาก นครสวรรค์ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นตามริมลำธารในป่าเบญจพรรณ หรือเขาหินปูน ความสูง 200–900 เมตร
สกุล Thailentadopsis Kosterm. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Mimosoideae เผ่า Ingeae มี 3 ชนิด พบที่ศรีลังกา 1 ชนิด และเวียดนามอีก 1 ชนิด ความสัมพันธ์ด้านวิวัฒนาการยังไม่ชัดเจน บางครั้งถูกยุบอยู่ภายใต้สกุลอื่น ๆ หลายสกุล ชื่อสกุลหมายถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นสกุลใหม่ที่ตั้งจากตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบของไทย
|