สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



เหลืองปรีดียาธร
วันที่ 3 มกราคม 2561

Tabebuia aurea (Silva Manso) Benth. & Hook.f. ex S.Moore

Bignoniaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. เปลือกหนาเป็นคอร์ก ใบรูปฝ่ามือ เรียงตรงข้าม มีใบย่อย 5–9 ใบ ก้านใบประกอบยาว 4–9 ซม. ใบย่อยรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 1–14 ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่มกว้าง มน หรือเว้าตื้น แผ่นใบหนา มีเกล็ดสีเงินรูปโล่ทั้งสองด้าน ก้านใบย่อยยาว 1–5 ซม. ด้านบนเป็นสันคมทั้งสองข้าง ใบคู่ล่างขนาดเล็ก โคนสอบเรียว ก้านสั้น ใบอ่อนสีน้ำตาลเข้ม ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงรูประฆัง หนา ยาว 0.8–1.7 ซม. แยก 2 แฉกตื้น ๆ ด้านนอกมีเกล็ด ดอกสีเหลืองรูปแตร ยาวได้ถึง 8 ซม. ปลายแยก 5 กลีบ รูปกลม เกสรเพศผู้ 2 คู่ ยาวไม่เท่ากัน ไม่ยื่นพ้นปากหลอด เกสรเพศผู้เป็นหมัน 1 อัน รังไข่มี 2 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียไม่ยื่นพ้นปากหลอด ยอดเกสรแยก 2 แฉก ผลแห้งแตกเป็น 2 ซีก รูปขอบขนาน ยาว 8–15 ซม. ไม่มีสัน มีเกล็ดปกคลุมหนาแน่น เมล็ดบาง มีปีกบางทั้งสองด้าน

มีถิ่นกำเนิดในบราซิล นิยมปลูกเป็นไม้ประดับริมถนนในเขตร้อน

สกุล Tabebuia Gomes ex DC. มีประมาณ 100 ชนิด พบในอเมริกาเขตร้อน บางครั้งแยกเป็นสกุล Handroanthus และ Roseodendron ในไทยพบเป็นไม้ประดับหลายชนิด เช่น แตรชมพู T. pallida (Lindl.) Miers ชมพูพันธุ์ทิพย์ T. rosea (Bertol.) Bertero ex A.DC. กลุ่มพวกเหลืองอินเดีย T. chrysantha (Jacq.) G. Nicholson หรือ T. ochracea (Cham.) Standl. subsp. neochrysantha (A. H. Gentry) A. H. Gentry และ T. chrysotricha (Mart. ex DC.) Standl. เป็นต้น ชื่อสกุลมาจากชื่อพื้นเมืองในบราซิล “tabebuia” หรือ “tabebuya” หมายถึง ต้นไม้ที่มีมด

ชื่อพ้อง  Bignonia aurea Silva Manso, Tabebuia argentea (Bureau & K.Schum.) Britton

เหลืองปรีดียาธร: ใบรูปฝ่ามือ เรียงตรงข้าม มีใบย่อย 5–9 ใบ ใบอ่อนสีน้ำตาลเข้ม ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ผลแห้งแตกเป็น 2 ซีก รูปขอบขนาน ไม่มีสัน เมล็ดบาง มีปีก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Staples, G.W. and D.R. Herbst. (2005). A tropical garden flora. Bishop Museum Press, Honolulu, Hawai`i.