ไม้พุ่ม อาจสูงได้ถึง 5 ม. ไม่มีหูใบ ใบเรียงเวียน รูปใบหอก ยาว 2.5–6 ซม. ปลายแหลมคมคล้ายหนาม โคนสอบเรียวปลายตัดชิดลำต้น เส้นแขนงใบจำนวนมาก แผ่นใบมีนวลด้านล่าง ช่อดอกแบบช่อเชิงลด มีขน แต่ละช่อมี 3–7 ดอก ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ยาว 3–4 มม. ติดทน ดอกรูปกรวยสีขาวหรืออมชมพู มี 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 2 มม. บานออก มีขนอุยด้านใน เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดที่โคนหลอดกลีบ ยาว 1–2 มม. ยื่นพ้นปากหลอดกลีบเล็กน้อย จานฐานดอกจัก 5 พู รังไข่มี 5 ช่อง เกลี้ยง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2 มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม ผลผนังชั้นในแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม. สุกสีแดง มี 5 เมล็ด
พบที่พม่าตอนล่าง กัมพูชา เวียดนามตอนใต้ คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และบอร์เนียว ในไทยพบทางภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช ยะลา สตูล ปัตตานี ขึ้นตามชายฝั่งทะเลที่เป็นทรายและโขดหิน หรือตามที่โล่งบนยอดเขา ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร แยกเป็น var. novoguineensis Sleumer พบเฉพาะที่นิวกินี
สกุล Styphelia Sm. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Epacridaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Styphelioideae มีประมาณ 130 ชนิด ส่วนใหญ่พบในออสเตรเลีย ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “styphelos” แข็ง ตามลักษณะใบที่ปลายแหลมคมคล้ายหนาม
|