สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ฮ่อมขาว
วันที่ 2 กรกฎาคม 2561

Strobilanthes tenuiflora J.R.I.Wood

Acanthaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 1 ม. ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ใบเรียงตรงข้าม แต่ละคู่ขนาดไม่เท่ากัน แผ่นใบรูปรีหรือรูปไข่ ยาวได้ถึง 13 ซม. ปลายแหลมยาว โคนเว้าตื้น ๆ เบี้ยว ขอบใบจัก เส้นแขนงใบข้างละ 5–7 เส้น ก้านใบยาวได้ถึง 3.4 ซม. ในใบขนาดใหญ่ ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง แยก 3 แขนง 2 หน ตั้งฉากแกนช่อ ยาวได้ถึง 10 ซม. ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 3 ซม. แกนช่อเรียวแคบ เกลี้ยง ใบประดับรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ 1 มม. ร่วงเร็ว ใบประดับย่อยมี 2 ใบ คล้ายใบประดับ แต่ละข้อของช่อย่อยมีดอกเดียว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบกลางยาวกว่ากลีบอื่นเล็กน้อย รูปขอบขนาน ยาว 4–6 มม. ขยายในผลเล็กน้อย ปลายกลีบเว้าตื้น กลีบดอกสีขาว รูปลำโพงแคบ โป่งข้างเดียวเล็กน้อย ยาว 3.2–4 ซม. หลอดกลีบช่วงโคนแคบ ปากหลอดกว้างประมาณ 1.5 ซม. มี 5 กลีบ กลีบรูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 5 มม. ปลายแหลมมน เกสรเพศผู้ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ยาว 2 อัน ยาว 4–5 มม. สั้น 2 อัน ยาวประมาณ 0.5 มม. พูอับเรณูสีชมพูอมแดง กลม ขนาดประมาณ 1 มม. โค้งบานออกเล็กน้อย รังไข่มี 2 ช่อง เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาว 2.5–3.2 มม. ยอดเกสรแยก 2 แฉก สั้นและยาว ผลแห้งแตก รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.5 ซม. ผิวเป็นร่างแห ปลายแหลมยาว มี 4 เมล็ด รูปไข่ แบน ยาวประมาณ 2 มม. มีขนละเอียดเป็นเมือก

พบที่จีนตอนใต้ (ยูนนาน) และภาคเหนือของไทยที่เชียงใหม่ (ดอยอินทนนท์, แม่ออน) และกำแพงเพชร (คลองลาน) ขึ้นตามที่ร่มเงาใกล้ลำธารในป่าดิบเขา ความสูง 800–1400 เมตร

สกุล Strobilanthes Blume มีประมาณ 400 ชนิด พบเฉพาะในเอเชียเขตร้อน ในไทยมีไม่น้อยกว่า 20 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “strobilus” โคน และ “anthos” ดอก ตามลักษณะดอกที่เรียวยาวคล้ายรูปโคน

ฮ่อมขาว: ใบเรียงตรงข้าม แต่ละคู่ขนาดไม่เท่ากัน ขอบใบจัก ช่อดอกแยก 3 แขนง 2 หน ตั้งฉากแกนช่อ ดอกสีขาวรูปลำโพง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Hu, Jia-qi and J.R.I. Wood. (2011). Acanthaceae (Strobilanthes) Flora of China Vol. 19: 428.