สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



เกาลัด
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Sterculia monosperma Vent.

Malvaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. หูใบคล้ายรยางค์ ร่วงเร็ว ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 8–30 ซม. เส้นแขนงใบเรียงจรดกันใกล้ขอบใบ เส้นโคนข้างละ 1 เส้น ก้านใบยาว 2–5 ซม. ช่อดอกห้อยลง ยาว 20–30 ซม. มีขนประปราย ดอกเพศผู้จำนวนมาก ดอกเพศเมียมีน้อยกว่า ขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ก้านดอกยาวประมาณ 1 ซม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1 ซม. เชื่อมติดกันประมาณกึ่งหนึ่ง ปลายเชื่อมติดกัน ขอบมีขน เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูเกสรร่วมเรียวยาว อับเรณูไร้ก้าน ก้านเกสรเพศเมียเชื่อมติดกันที่โคน มีขน มี 1–5 ผลย่อย ยาว 5–10 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ผลแก่สีแดง แตกแนวเดียว มี 1–4 เมล็ด รูปรี ยาว 1.5–3 ซม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ปอขนุน, สกุล)

มีถิ่นกำเนิดที่อินเดีย จีน เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในไทยปลูกเป็นไม้ประดับ เมล็ดต้มหรืออบกินได้ รสชาติคล้ายเกาลัด

ชื่อสามัญ  Chinese chestnut, Seven sisters’ fruit

ชื่ออื่น   เกาลัด (กรุงเทพฯ); เท็งท้อ (ภาษาจีน); หงอนไก่ใบใหญ่ (ภาคใต้)

เกาลัด: ช่อดอกห้อยลง กลีบเลี้ยงปลายเชื่อมติดกัน ผลแตกแนวเดียว มีขนสั้นนุ่ม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (2001). Sterculiaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 641.

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Sterculiaceae. In Flora of China Vol. 12: 306.

เท็งท้อ
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Sterculia monosperma Vent.

Malvaceae

ดูที่ เกาลัด

หงอนไก่ใบใหญ่
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Sterculia monosperma Vent.

Malvaceae

ดูที่ เกาลัด