สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



กาฝากขน
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Scurrula ferruginea (Jack) Danser

Loranthaceae

กาฝากพุ่ม มีขนกระจุกรูปดาวและขนแยกแขนงหนาแน่นตามกิ่งอ่อน ช่อดอก และดอก ใบเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 3–10 ซม. ปลายมนหรือกลม โคนรูปลิ่มหรือเว้าตื้น ช่อดอกแบบช่อกระจะออกตามข้อสั้น ๆ คล้ายช่อซี่ร่ม มี 2–5 ดอก ก้านดอกยาว 0.5–4 มม. ใบประดับเรียวแคบ ยาว 1–3 มม. กลีบเลี้ยงเป็นแผ่นบาง ๆ ติดเหนือรังไข่คล้ายเป็นหลอดรูปลูกข่าง หลอดกลีบดอกยาว 0.5–1.5 ซม. กลีบแฉกลึกด้านเดียวมากกว่าหรือประมาณกึ่งหนึ่ง ปลายแยก 4 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 4–5 มม. ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ 4 อัน ติดตรงข้ามเหนือกลีบดอก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดหลอดกลีบดอก ช่วงที่แยกยาวเท่า ๆ อับเรณู อับเรณูยาวประมาณ 1 มม. รังไข่ใต้วงกลีบ ยอดเกสรเป็นตุ่ม ผลสดมีเมล็ดเดียว รูปคล้ายกระบอง ปลายกลม ยาว 0.8–1 ซม. รวมก้านยาว 4–6 มม.

พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ ลาว เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ (ปาละวัน) ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร

สกุล Scurrula L. คล้ายกับสกุล Taxillus แต่ผลส่วนมากรูปไข่ โคนไม่เรียวแคบ และไม่มีก้าน มี 20–40 ชนิด ในไทยมี 7 ชนิด ชื่อสกุลเป็นภาษาละติน หมายถึงตัวตลกจิ๋ว ตามลักษณะของผล

ชื่อพ้อง  Loranthus ferrugineus Jack

กาฝากขน: ช่อดอกมีขนหนาแน่น หลอดกลีบดอกแฉกลึกด้านเดียว (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Barlow, B.A. (2002). Loranthaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(4): 695–702.

Qiu, H. and M.G. Gilbert. (2003). Loranthaceae. In Flora of China Vol. 5: 227, 231.