ไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มรอเลื้อย สูงได้ถึง 4 ม. ใบเรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ยาว 4–17 ซม. ขอบใบเรียบหรือจักมน ก้านใบยาว 1–1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือแยกแขนงสั้น ๆ มี 3–6 ดอกในแต่ละช่อ ก้านดอกยาว 0.5–1 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมปลายมนกลม ยาวประมาณ 1 มม. ขอบจักชายครุย ดอกสีเขียวอมเหลือง มี 5 กลีบ รูปรีหรือรูปไข่กว้าง ยาว 3–4 มม. ปลายกลม จานฐานดอกรูปเบาะหนา เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2 มม. ขอบมีปุ่มเล็ก ๆ เกสรเพศผู้ 3 อัน ติดบนขอบจานฐานดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูเปิดตามขวาง รังไข่มี 3 ช่อง จมอยู่ในจานฐานดอก ก้านเกสรเพศเมียสั้น ผลสดรูปกลม ๆ เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–2 ซม. สุกสีแดง มีเมล็ดเดียว
พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ขึ้นหลากหลายสภาพป่า โดยเฉพาะป่าโปร่งที่แห้งแล้ง ความสูงถึงประมาณ 1550 เมตร รากและเนื้อไม้มีสรรพคุณฟอกโลหิต แก้ปวดตามข้อ แก้ประดง แก้พิษโลหิต ทำให้สดชื่น
สกุล Salacia L. มี 150–200 ชนิด พบในเขตร้อน ในไทยมี 11 ชนิด ชื่อสกุลตั้งตามเทพเจ้าน้ำใต้ดินหรือน้ำพุของชาวโรมัน Salacia หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร
|
ชื่อพ้อง Salacia latifolia Wall.
|
|
|
ชื่ออื่น กำแพงเจ็ดชั้น (ทั่วไป); ตะลุ่มนก (ราชบุรี); ตาไก้ (พิษณุโลก); น้ำนอง, มะต่อมไก่ (ภาคเหนือ); สามชั้น (เลย); หลุมนก (ภาคใต้)
|
|
กำแพงเจ็ดชั้น: ไม้เถาเนื้อแข็ง เนื้อไม้เป็นชั้น ๆ ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือแยกแขนงสั้น ๆ
ดอกสีเขียวอมเหลือง จานฐานดอกรูปเบาะหนา เกสรเพศผู้ 3 อัน ติดบนขอบจานฐานดอก ผลสุกสีแดง (ภาพ: ปิยชาติ ไตรสารศรี, ราชันย์ ภู่มา)
|
|