สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



พัดโบก
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Rotheca incisa (Klotzsch) Steane & Mabb.

Lamiaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2.5 ม. กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม ใบเรียงตรงข้ามหรือเรียงรอบข้อ 3 ใบ รูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 2–15 ซม. ปลายแหลมยาว โคนเรียวสอบเป็นก้านใบ บางครั้งแฉกเป็นพูตื้น ๆ ช่อดอกแบบช่อกระจุกออกตามปลายกิ่ง ก้านช่อยาวประมาณ 2 ซม. ดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว 2.5–8 มม. ใบประดับและใบประดับย่อยรูปแถบ ยาว 2–3 มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 5 มม. กลีบรูปสามเหลี่ยม ยาว 1.5–2 มม. ดอกสีขาว กลีบรูปปากเปิด หลอดกลีบเรียวแคบ ยาว 5–11 ซม. มีขนต่อมกระจาย แผ่นกลีบรูปขอบขนาน ยาว 0.8–1.5 ซม. กลีบปากยาวประมาณ 2.5 ซม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก 3–5 ซม. ก้านชูอับเรณูสีแดงอมน้ำตาล ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ เกสรเพศผู้ ผลรูปรีกว้าง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 9 มม. จัก 3–4 พู

ถิ่นกำเนิดในแอฟริกา เป็นไม้ประดับในเขตร้อน ดอกบานช่วงกลางคืน

สกุล Rotheca Raf. แยกออกมาจากสกุล Clerodendrum ที่ตาดอกไม่สมมาตรและกลีบดอกไม่พลิกกลับ มี 50–60 ชนิด ในไทยมีชนิดเดียว คือ อัคคีทวาร R. serrata (L.) Steane & Mabb. ขอบกลีบเลี้ยงเรียบหรือจักตื้น ๆ และพบเป็นไม้ประดับอีก 2 ชนิด อีกชนิดคือ ผีเสื้อแสนสวย R. myricoides (Hochst.) Steane & Mabb. ขอบกลีบเลี้ยงจักชัดเจน มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาเช่นเดียวกัน

ชื่อพ้อง  Clerodendrum incisum Klotzsch

ชื่อสามัญ  Do-re-me plant, Morning kiss, Musical note plant, Witch’s tongue

พัดโบก: ช่อดอกแบบช่อกระจุกออกสั้น ๆ ตามปลายกิ่ง หลอดกลีบดอกเรียวแคบ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Fernandes, R. (2005). Lamiaceae. (Clerodendrum incisum). In Flora Zambesiaca Vol. 8(7): 122–123.

Leeratiwong, C. and P. Chantaranothai. (2010). A revision of the genus Rotheca Raf. (Lamiaceae) in Thailand. Tropical Natural History 10(1): 81–92.