ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 5 ม. แยกเพศร่วมต้น มีต่อมน้ำต้อยกระจายตามขอบหูใบ โคนก้านใบ โคนแผ่นใบ และโคนใบประดับ หูใบเชื่อมติดกันรูปสามเหลี่ยม ยาวได้ถึง 1.5 ซม. โอบรอบกิ่ง ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปฝ่ามือ 6–11 แฉก เส้นผ่านศูนย์กลาง 10–20 ซม. โคนแบบก้นปิด ขอบจักฟันเลื่อยไม่เท่ากัน ปลายจักเป็นต่อม ช่อดอกแบบช่อกระจะ หรือแยกแขนงสั้น ๆ ดอกเพศผู้อยู่ช่วงล่าง ดอกเพศเมียอยู่ช่วงบน ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกจรดโคน รูปสามเหลี่ยม ยาวได้ถึง 1 ซม. ในดอกเพศเมียคล้ายเกล็ด เกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นมัด แยกสองแฉกหลายหน รังไข่ 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลเม็ดเดียว มีเกล็ดคล้ายหนาม ก้านเกสร 3 อัน ยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง ปลายแฉกลึก ติดทน ผลแห้งแตก รูปรี ยาวประมาณ 1.5 ซม. จัก 3 พู มีขนคล้ายหนาม เมล็ดผิวมีปื้นสีน้ำตาล จุกขั้วจัก 2 พู
มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ เมล็ดให้น้ำมัน castor oil และ wonder oil ใช้ในอุตสาหกรรมเคลือบเงา ทำสี เคลือบหนัง หมึกพิมพ์ สบู่ น้ำมันหล่อลื่น และมีสรรพคุณแก้พิษต่าง ๆ เมล็ดมีพิษร้ายแรงถึงชีวิต
สกุล Ricinus L. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Acalyphoideae เผ่า Acalypheae มีชนิดเดียว มีความผันแปรสูงเนื่องจากมีการเพาะปลูกมายาวนานตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ ทำให้มีการจำแนกเป็นหลายพันธุ์ ชื่อสกุลเป็นภาษาละติน “ricinus” หมัด ตามลักษณะของเมล็ดที่มีรอยปื้นสีน้ำตาลคล้ายตัวหมัด
|
|
|
ชื่อสามัญ Castor bean, Castor oil, Palma-christi
|
ชื่ออื่น คิติ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); คีเต๊าะ (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร); ปีมั้ว (จีน); มะละหุ่ง (ทั่วไป); มะโห่ง, มะโห่งหิน (ภาคเหนือ); ละหุ่ง (ทั่วไป); ละหุ่งแดง (ภาคกลาง)
|
|
ละหุ่ง: ใบรูปฝ่ามือ หูใบเชื่อมติดกันรูปสามเหลี่ยม โอบรอบกิ่ง ช่อดอกแบบช่อกระจะ ดอกเพศผู้อยู่ช่วงล่าง ดอกเพศเมียอยู่ช่วงบน ผลมี 3 พู ผิวมีขนคล้ายหนาม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
|
|