ไม้พุ่ม สูง 1–4 ม. เปลือกลอกเป็นแผ่นบาง ๆ มีขนสั้นหนานุ่มสีเทาตามกิ่ง แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ ช่อดอก ก้านดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก และผล ใบเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 2–10 ซม. แผ่นใบหนา เส้นแขนงใบข้างละ 1 เส้น ออกจากโคน เรียงโค้งจรดกันเป็นเส้นขอบใน ก้านใบยาวประมาณ 5 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนออกตามซอกใบ ส่วนมากมีดอกเดียว ก้านช่อยาว 1–2 ซม. ก้านดอกยาวได้ถึง 1.5 ซม. ฐานดอกรูปถ้วย ยาวประมาณ 1 ซม. กลีบเลี้ยง 4–5 กลีบ ยาว 5–6 มม. ปลายมน ติดทน ดอกสีชมพูอมขาว มี 4–5 กลีบ รูปไข่กว้าง ยาว 1.5–2 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูสีแดง ยาว 0.7–1 ซม. ปลายอับเรณูมีต่อมขนาดเล็ก รังไข่ใต้วงกลีบ ก้านเกสรเพศเมียยาว 1–1.5 ซม. ผลสดมีหลายเมล็ด เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.5 ซม. ขนสั้นหนานุ่มสีเทา สุกสีดำอมม่วง เมล็ดสีน้ำตาล รูปคล้ายไต ยาวประมาณ 3 มม. มีปุ่มกระจาย,br> พบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะโมลุกกะ และซูลาเวซี ในไทยพบทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าชายหาด ชายป่าพรุ และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร รากมีสรรพคุณแก้ปวดท้อง ท้องเสีย และภาวะตกเลือดหลังคลอด
สกุล Rhodomyrtus (DC.) Rchb. มีประมาณ 18 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อนและออสเตรเลีย ในไทยมีชนิดเดียว แยกเป็น var. parviflora (Alston) A. J. Scott พบที่ศรีลังกา และอินเดีย ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “rhodo” แดง และ “myrtos” พืชวงศ์ Myrtaceae ตามลักษณะดอกที่ส่วนมากมีสีแดง
|