สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ง้าย
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Rhodamnia kerrii J.Parn. & NicLugh.

Myrtaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2 ม. เปลือกลอกเป็นแผ่น มีขนสั้นนุ่มตามแผ่นใบ ก้านใบ ก้านดอก ฐานดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอก ใบเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 2–3 ซม. แผ่นใบหนา เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น ก้านใบสั้นมากหรือไร้ก้าน ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ตามซอกใบ ก้านดอกยาว 1–1.5 ซม. ก้านดอกเทียมยาวประมาณ 2 มม. ก้านดอกยาว 1–1.5 ซม. กลีบเลี้ยงรูปกรวย ยาวประมาณ 5 มม. ติดทน มี 4 กลีบ รูปรี ยาวประมาณ 2 มม. ดอกสีครีม มี 4 กลีบ รูปรี ยาวประมาณ 6 มม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 4 มม. โคนก้านสีชมพู แกนอับเรณูปลายแหลมสั้น รังไข่ใต้วงกลีบ ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ เกสรเพศผู้ ผลสด มี 1–2 เมล็ด รูปกลม สุกสีดำ มีขนละเอียด เมล็ดกลมหรือครึ่งวงกลม ยาวประมาณ 4 มม. ด้านหนึ่งเป็นเหลี่ยม

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย ขึ้นตามทุ่งหญ้าที่โล่ง พื้นเป็นหินทราย

สกุล Rhodamnia Jack มี 24 ชนิด พบในเอเชียโดยเฉพาะภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย ในไทยมี 3 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “rhodon” กุหลาบ และ “amnion” ถุงน้ำคร่ำหรือรก ตามลักษณะผลที่ยังไม่แก่มีสีแดงคล้ายกุหลาบ

ชื่ออื่น   ง้าย (ส่วย); ปุ้ย (เขมร-ภาคตะวันออก)

ง้าย: มีขนสั้นนุ่มกระจาย ใบเรียงตรงข้าม แผ่นใบหนา มีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น ดอกส่วนมากออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ (ภาพ: ธรรมรัตน์ พุทธไทย)

เอกสารอ้างอิง

Parnell, J. and P. Chantaranothai. (2002). Myrtaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(4): 807–809.

ปุ้ย
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Rhodamnia kerrii J.Parn. & NicLugh.

Myrtaceae

ดูที่ ง้าย