ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. แยกเพศต่างต้น หูใบ 2 อัน ขนาดเล็ก ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 4–14 ซม. โคนเบี้ยว ขอบจักฟันเลื่อย ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ดอกออกเป็นกระจุกสีเขียวอมเหลือง กลีบเลี้ยงขนาดไม่เท่ากัน เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–2 มม. ไม่มีกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้ไร้ก้านหรือก้านช่อยาว 1–3 ซม. ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง 4–5 กลีบ ขอบมีขนครุย เกสรเพศผู้ 3–4 อัน ก้านชูอับเรณูสั้น ไม่มีจานฐานดอก ดอกเพศเมียออกเป็นกระจุก 1–4 ดอก ก้านดอกยาว 0.5–1.5 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รังไข่มีขนหนาแน่น มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด เกสรเพศเมียแยก 2–3 แฉก โค้งงอกลับ ติดทน มีปุ่มเล็ก ๆ กระจาย ผลผนังชั้นในแข็ง รูปรีกว้าง ยาว 1.5–2.7 ซม. มีเมล็ดเดียว
พบที่อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เนปาล ศรีลังกา ลาว กัมพูชา ชวา นิวกินี หมู่เกาะซุนดาน้อยและโมลุกกะ ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง บนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 600 เมตร ใบและผลมีสรรพคุณรักษาโรคปวดตามข้อ แก้ไข้และแก้หวัด
สกุล Putranjiva Wall. เคยอยู่ภายใต้สกุล Drypetes ภายใต้วงศ์ Euphorbiaceae พบเฉพาะในเอเชีย มี 4 ชนิด ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษาสันสกฤต “putra” บุตรชาย และ “juvi” รุ่งเรือง หมายถึงไทรย้อย Ficus benjamina L. อาจหมายถึงมีลูกดกเหมือนไทรย้อย
|