ไม้ต้น สูงได้ถึง 35 ม. โคนมีพูพอน กิ่งมักเป็นเหลี่ยม รอยแผลใบชัดเจน หูใบรูปลิ่มแคบ ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 10–20 ซม. ปลายแหลมยาว โคนสอบจรดก้านใบคล้ายเป็นครีบ ขอบจักฟันเลื่อย ก้านใบยาว 1–3 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ตั้งขึ้น ยาว 6–13 ซม. แกนช่อและก้านดอกหนา ยาว 0.2–1 ซม. ใบประดับคล้ายใบ ใบประดับย่อยรูปขอบขนาน ยาว 0.7–1.5 ซม. ติดทน ฐานดอกยาว 5–7 มม. กลีบเลี้ยงหนา มี 4 กลีบ รูปไข่ ยาว 0.5–1 ซม. เรียงซ้อนเหลื่อม ติดทน ดอกสีเขียวอ่อน มี 4 กลีบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ม้วนงอ ยาว 1.5–3.5 ซม. เกสรเพศผู้โคนเชื่อมติดกันประมาณ 1 ซม. ก้านชูอับเรณูยาว 2.5–4.5 ซม. โคนสีแดงอมชมพู จานฐานดอกเป็นวง รังไข่ใต้วงกลีบ มี 3–4 ช่อง เกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาวกว่าเกสรเพศผู้ ติดทน ผลรูปไข่หรือรูปรี ยาว 3–4 ซม. ผนังชั้นนอกบาง ชั้นกลางเป็นเส้นใย มีได้ถึง 15 เมล็ด รูปไข่ มี 3–4 เหลี่ยม
พบที่หมู่เกาะนิโคบาร์ของอินเดีย ภูมิภาคมาเลเซีย และนิวกินี ในไทยพบที่เบตง จังหวัดยะลา ขึ้นตามชายป่าดิบชื้นใกล้ลำธาร ความสูงประมาณ 300 เมตร ใบอ่อนกินได้คล้ายกระโดน เปลือกใช้ทาแก้โรคผิวหนัง
สกุล Planchonia Blume มี 9 ชนิด พบที่หมู่เกาะนิโคบาร์และอันดามันของอินเดีย ภูมิภาคมาเลเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะโซโลมอน ในไทยมี 3 ชนิด พบเฉพาะทางภาคใต้ตอนล่าง ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Jules Émile Planchon (1823–1888)
|