สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

เส้ง
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Pentapetes phoenicea L.

Malvaceae

ดูที่ ปอเส็ง

เส้งใบเล็ก
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Pentapetes phoenicea L.

Malvaceae

ดูที่ ปอเส็ง

เส้งใหญ่
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Pentapetes phoenicea L.

Malvaceae

ดูที่ ปอเส็ง

บานเที่ยง
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Pentapetes phoenicea L.

Malvaceae

ดูที่ ปอเส็ง



ปอเส็ง
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Pentapetes phoenicea L.

Malvaceae

ไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม สูง 1–1.5 ม. แตกกิ่งสั้น ๆ ใบเรียงเวียน รูปใบหอกแคบ จักเป็นพูตื้น ๆ หรือรูปหัวลูกศร ยาว 3–14 ซม. แผ่นใบมีขนประปรายทั้งสองด้าน ขอบใบจักฟันเลื่อยค่อนข้างลึก เกือบไร้ก้านหรือมีก้านยาวได้ถึง 1 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ๆ มี 1–2 ดอก ก้านช่อสั้น ก้านดอกยาว 1–2 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ติดทน โคนเชื่อมติดกัน กลีบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 5–7 มม. ปลายแหลมคล้ายหนามหรือตะขอ มีขนหยาบ ดอกรูปถ้วยกว้าง สีชมพูหรือแดง โคนด้านในมีสีขาว มี 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม กลีบรูปไข่กลับ ปลายกลม ยาว 1–2 ซม. เกสรเพศผู้ 15 อัน ติดกันเป็น 5 กลุ่มสั้น ๆ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมี 5 อัน ติดระหว่างกลุ่ม รูปแถบ สั้นกว่าหรือยาวเท่า ๆ กับกลีบดอก รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ หรือยาวกว่าแผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเล็กน้อย ติดทน ผลแห้งแตกตามยาว กลม จัก 5 พู เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.2 ซม. มีขนหยาบกระจาย มีประมาณ 10 เมล็ด

พบในเอเชียเขตร้อนถึงตอนบนของออสเตรเลีย ขึ้นเป็นวัชพืชในหลายประเทศ ในไทยพบทุกภาคตามนาข้าว ที่โล่งที่ชื้นแฉะ ความสูงไม่เกิน 100 เมตร หรือเป็นไม้ประดับ รากแก้ปวดท้อง เปลือกเหนียวใช้ทำเชือก

สกุล Pentapetes L. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Sterculiaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Dombeyoideae เป็นสกุลที่มีชนิดเดียว ชื่อสกุลเป็นภาษากรีก หมายถึงดอกไม้ที่มี 5 กลีบ

ชื่ออื่น   บานเที่ยง (ภาคกลาง); ปอเส้ง (ภาคกลาง, ภาคเหนือ); เส้ง (ภาคใต้); เส้งใบเล็ก (ชัยนาท); เส้งใหญ่ (อ่างทอง)

ปอเส็ง: ขึ้นเป็นวัชพืชตามที่โล่งที่ชื้นแฉะ ช่อดอกมี 1–2 ดอก ดอกรูปถ้วยกว้าง เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 5 อัน รูปแถบ ผลรูปกลม จัก 5 พู มีขนหยาบกระจาย กลีบเลี้ยงติดทน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (2001). Sterculiaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 595–597.

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Sterculiaceae. In Flora of China Vol. 12: 326.