ไม้เถาเนื้อแข็ง มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลตามลำต้น แกนใบประกอบ ก้านใบย่อย แผ่นใบด้านล่าง และช่อดอก ใบประกอบปลายคี่ ยาว 20–40 ซม. ใบย่อยมี 4–7 คู่ รูปไข่ ยาว 4–11 ซม. โคนรูปหัวใจ เบี้ยว ขอบจักฟันเลื่อย ก้านยาว 2–3 มม. ช่อดอกแยกแขนงยาว 20–35 ซม. ใบประดับยาวประมาณ 1 มม. ก้านดอกยาวประมาณ 1.5 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1 มม. ดอกสีขาว มี 5 กลีบ รูปไข่แคบ ยาวประมาณ 1.5 มม. เกสรเพศผู้ 10 อัน สั้น จานฐานดอกจัก 5 พู รังไข่มี 5 ช่อง ส่วนมากพัฒนาเพียงช่องเดียว ก้านเกสรเพศเมีย 5 อัน สั้นมาก ผลผนังชั้นในแข็ง รูปรี เบี้ยว ยาวประมาณ 1 ซม. สุกสีดำ เมล็ดเปลือกบาง
พบที่อินเดีย เนปาล พม่า จีนตอนใต้ และภาคเหนือของไทยที่เชียงราย กำแพงเพชร ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูง 400–1000 เมตร
สกุล Pegia Colebr. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Spondioideae มี 2 ชนิด พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยมีชนิดเดียว แต่ใน Flora of China ระบุว่ามีชนิด P. sarmentosa (Lecomte) Hand.-Mazz. ด้วย ชื่อสกุลมาจากภาษากรีกหรือละติน “pege” แหล่งกำเนิดหรือลำธาร
|