| | Microlepia speluncae (L.) T.Moore |
|
เฟินขึ้นบนพื้นดิน เหง้าสีน้ำตาลเข้ม ทอดขนาน เส้นผ่านศูนย์กลาง 4–7 มม. มีขนสั้นนุ่มตามเหง้า ก้านใบ แกนกลางใบประกอบ และแผ่นใบด้านล่าง ใบประกอบ 3–4 ชั้น ก้านใบยาว 30–80 ซม. ด้านบนมีร่องตามยาว แผ่นใบกว้าง 0.5–1 ม. ยาว 0.7–1 ม. ใบประกอบย่อยมีข้างละ 10–20 ใบ เรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 7–20 ซม. ยาว 20–65 ซม. ก้านยาว 1–1.5 ซม. ใบประกอบย่อยชั้นที่สองมี 20–30 คู่ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 1.7–3 ซม. ยาว 5–15 ซม. ใบย่อยรูปขอบขนานยาว 1.5–2 ซม. ปลายมน โคนรูปลิ่ม แผ่เป็นครีบ ด้านบนมีติ่ง ขอบแฉกลึกรูปขอบขนานหรือรูปใบพาย ปลายมนหรือตัด จักซี่ฟัน เส้นแขนงใบแยกสาขาเป็นคู่ กลุ่มอับสปอร์เกิดต่อเนื่องที่ปลายเส้นแขนงใบใกล้ขอบใบ เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์รูปถ้วยขนาดเล็ก มีขนปกคลุม
พบในอเมริกาเขตร้อน แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่ง ชายป่า ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร
สกุล Microlepia C.Presl มี 50–60 ชนิด พบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในไทยมี 12 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “mikros” ขนาดเล็ก และ “lepis” เกล็ด ตามลักษณะเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์รูปถ้วยขนาดเล็ก
| ชื่อพ้อง Polypodium speluncae L.
| | | ชื่ออื่น กูดผี, กูดหยี, โหราผักกูด (ภาคกลาง); โชน (ประจวบคีรีขันธ์); เนระพูสี (Yala)
| | โหราผักกูด: ใบประกอบ 3–4 ชั้น กลุ่มอับสปอร์เกิดต่อเนื่องที่ปลายเส้นแขนงใบใกล้ขอบใบ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)
|
|
|
เอกสารอ้างอิง | Lindsay, S. and D.J. Middleton. (2012 onwards). Ferns of Thailand, Laos and Cambodia. http://rbg-web2.rbge.org.uk/thaiferns/ |
| Tagawa, M. and K. Iwatsuki. (1989). Dennstaedtiaceae. In Flora of Thailand Vol. 3(1): 111–124. |
| Yuehong, Y., Q. Xinping and S. Serizawa. (2013). Dennstaedtiaceae (Microlepia). In Flora of China Vol. 2–3: 166. |