สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



หยาดม่วง
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Microchirita rupestris (Ridl.) A.Weber & D.J.Middleton

Gesneriaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 35 ซม. ส่วนมากมีขนยาวตามลำต้น ก้านใบ แผ่นใบทั้งสองด้าน ใบประดับ ช่อดอก ก้านดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก ใบช่วงโคนต้นมักออกเดี่ยว ๆ ใบช่วงปลายกิ่งเรียงตรงข้าม รูปไข่ ยาว 2–12 ซม. ปลายแหลมยาว โคนแหลม กลม หรือเว้าตื้น ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อย เส้นแขนงใบข้างละ 7–12 เส้น ก้านใบยาว 1–8 ซม. ช่อดอกออกตามซอกใบ มี 1–3 ช่อ ก้านช่อยาว 0.4–4 ซม. ใบประดับมี 2 ใบ เรียงตรงข้าม เชื่อมติดกันรูปถ้วย ยาวได้ถึง 2.5 ซม. แต่ละช่อมีได้ถึง 7 ดอก ก้านดอกยาว 0.2–1.5 ซม. กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ยาวได้ถึง 8 มม. ดอกรูปแตร สีม่วง ยาว 1.5–2 ซม. ปากหลอดกลีบกว้างประมาณ 7 มม. ด้านในสีขาว รังไข่มีขนประปราย ผลยาวได้ถึง 8 ซม.

พบที่คาบสมุทรมลายู ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ ลำปาง ตาก ภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี และภาคใต้ที่ตรัง ขึ้นตามเขาหินปูน ความสูง 100–500 เมตร

ชื่อพ้อง  Chirita rupestris Ridl.

หยาดม่วง: มีขนยาวกระจาย ก้านใบยาว ช่อดอกออกตามซอกใบ มี 1–3 ช่อ ใบประดับเชื่อมติดกันรูปถ้วย ดอกสีม่วง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Weber, A., D.J. Middleton, A. Forrest, R. Kiew, C.L. Lim, A.R. Rafidah, S. Sontag, P. Triboun, Y.G. Wei, T.L. Yao and M. Möller. (2011). Molecular systematics and remodelling of Chirita and associated genera (Gesneriaceae). Taxon 60(3): 779.

Wood, D. (1974). A revision of Chirita (Gesneriaceae). Notes from the Royal Botanic Garden Edinburgh 33(1): 201.