ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มรูปเจดีย์ เปลือกบาง น้ำยางมีกลิ่นหอม ใบเรียงตรงข้าม รูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว 4–12 ซม. ปลายใบแหลมยาวหรือยาวคล้ายหาง แผ่นใบด้านล่างมีนวล ก้านใบยาว 5–8 มม. เส้นแขนงใบย่อยจำนวนมาก เรียงขนานเบี้ยว ๆ ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง มักห้อยลง ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกยาว 3–5 มม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม กลม ๆ คู่นอกขนาดใหญ่กว่าคู่ในเล็กน้อย ขอบบาง ขยายในผล ดอกสีขาว มี 4 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 3–3.5 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาว 1.5–2 ซม. รังไข่มี 2 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียยาว 1–1.5 ซม. ยอดเกสรเบี้ยว ติดทน ผลรูปไข่ ยาวประมาณ 3 ซม. มีรอยย่นตามยาว แตกเป็น 2 ซีก ก้านยาว 0.8–1.2 ซม. มี 1–4 เมล็ด เบี้ยว
พบที่อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า กัมพูชา เวียดนาม คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว ชวา และฟิลิปปินส์ ใบและดอกใช้ประคบแก้พิษงูและแมงป่อง ดอกมีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง เมล็ดให้น้ำมันหอมระเหย
สกุล Mesua L. เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Clusiaceae มี 5 ชนิด ในไทยมี 3 ชนิด ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวอาหรับ Joannes Mesue (777–857)
|