ไม้เถาล้มลุก แยกเพศร่วมต้น มีขนสั้นประปรายตามลำต้น แผ่นใบ ช่อดอก กลีบเลี้ยงด้านนอก รังไข่ และก้านเกสรเพศเมีย หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวได้ถึง 8 มม. ติดทน ใบเรียงเวียน รูปไข่กว้าง ยาว 7–19 ซม. ปลายแหลมยาวหรือยาวคล้ายหาง โคนรูปหัวใจ แผ่นใบบาง เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น เส้นแขนงใบข้างละ 3–5 เส้น ก้านใบยาว 3–11 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาวได้ถึง 4 ซม. ขยายในผล ดอกสีเขียวอมเหลือง ก้านดอกสั้น ใบประดับ 1 ใบ ใบประดับย่อย 2 ใบ รูปรี ยาว 1–4 มม. ติดทน ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ดอกเพศผู้อยู่ปลายช่อ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ เชื่อมติดกันประมาณ 2 มม. กลีบรูปไข่ ปลายมน ยาว 3–4 มม. เกสรเพศผู้ 3 อัน ยาวประมาณ 1.3 มม. ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปสามเหลี่ยมกว้าง แกนหนา ปลายโค้งลง ดอกเพศเมียมี 1–2 ดอก กลีบเลี้ยง 6 กลีบ รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 3.5–9 มม. ขยายในผล ยาว 1.2–1.8 ซม. มีขนคันหนาแน่น รังไข่มี 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียเชื่อมติดกันรูปกรวยคว่ำ ปลายจัก 3 พู กว้างและยาวประมาณ 4 มม. ผลแห้งแตก จัก 3 พู รูปรี ยาวประมาณ 1.5 ซม. มีขนแสบคัน แต่ละพูมีเมล็ดเดียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 5–6 มม. มีปื้นสีีครีมหรือน้ำตาล
พบที่พม่า และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามชายป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น หรือบนเขาหินปูน ความสูง 100–1400 เมตร
สกุล Megistostigma Hook.f. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Acalyphoideae เผ่า Plukenetieae มี 5 ชนิด พบในภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “megistos” ใหญ่ และ “stigma” ตามลักษณะยอดเกสรเพศเมีย
|