สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



โกงกางน้ำจืด
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Marcania grandiflora J.B.Imlay

Acanthaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2 ม. โป่งตามข้อ มีขนสั้นนุ่มตามใบประดับ ใบประดับย่อย กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ ยาว 6–15 ซม. ปลายแหลม โคนมน ก้านยาว 1–3.5 ซม. ใบประดับ 1 ใบ ใบระดับย่อย 2 ใบ รูปใบหอก ยาวประมาณ 4 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกสั้น ๆ ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มี 1–2 ดอก ก้านดอกหนา ยาว 3–5 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ยาวไม่เท่ากัน รูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 1.5–2.5 ซม. ติดทน ดอกสีขาว กลีบรูปปากเปิด หลอดกลีบดอกยาว 2–5 ซม. โคนด้านในมีขนยาว กลีบบนรูปขอบขนาน ปลายแยก 2 กลีบ รูปรีกว้าง ยาวประมาณ 6 มม. กลีบล่าง 3 กลีบ โค้งกลับ รูปรี ยาวประมาณ 1 ซม. เกสรเพศผู้ 2 อัน ติดที่โคนหลอดกลีบ ไม่ยื่นพ้นหลอดกลีบ จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่และก้านเกสรเพศเมียมีขนยาว ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 3.5 ซม. ปลายแยก 2 แฉก ผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก ปลายป่อง ยาวประมาณ 3 ซม. มี 4 เมล็ด แบน รูปรี ยาว 6–7 มม. มีสันกลาง

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคกลางที่ลพบุรี สระบุรี และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี เพชรบุรี ขึ้นบนเขาหินปูนเตี้ย ๆ ที่แห้งแล้ง ความสูงไม่เกิน 100 เมตร

สกุล Marcania J. B. Imlay มีเพียงชนิดเดียว ชื่อสกุลตั้งตาม Alexander Marcan (1883–1953) นักเคมีชาวอังกฤษ ที่เข้ามาสำรวจและเก็บตัวอย่างพรรณไม้ในไทยช่วงปี ค.ศ. 1919–1931

โกงกางน้ำจืด: ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ช่อดอกมี 1–2 ดอก กลีบเลี้ยงรูปแถบ กลีบดอกรูปปากเปิด กลีบปากมีขนยาวด้านใน ผลรูปทรงกระบอก ปลายป่อง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Imlay, J.B. (1939). Contributions to the Flora of Siam. Bulletin of Miscellaneous Information Kew 1939: 136–137.