ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงไม่เกิน 10 ม. มีเกล็ดหุ้มยอด ใบประกอบมี 3 ใบย่อย ก้านใบยาว 1.5–6.5 ซม. ใบย่อยรูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือรูปแถบ ยาว 2–12 ซม. ปลายกลม เว้าตื้น ๆ หรือมีติ่ง เกือบไร้ก้าน ช่อดอกคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกสั้น ๆ ที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ก้านดอกยาว 1.5–5.5 ซม. ใบประดับรูปแถบขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 0.7–1 ซม. ติดทน ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ 8–12 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 1–1.5 ซม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว 1.5–2 มม. ปลายมีติ่ง ก้านเกสรเพศเมีย ยาว 1.5–2 ซม. รังไข่ติดบนก้านชูเกสรเพศเมีย (gynophore) ที่ยาวเท่า ๆ ก้านชูอับเรณู ผลมีเนื้อหลายเมล็ด รูปรีกว้างเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–2.5 ซม. ผิวขรุขระ ก้านผลยาว 4.5–7.5 ซม. เมล็ดรูปไต
พบในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทุกภาคจนถึงภาคใต้ตอนบน ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง หรือตามป่าโปร่ง โดยเฉพาะเขาหินปูนเตืี้ย ๆ ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร ใบเขียวตลอดปี ใบและดอกอ่อนกินเป็นผักดองคล้ายกุ่ม
สกุล Maerua Forssk. มีประมาณ 90 ชนิด ส่วนใหญ่พบในแอฟริกาที่แห้งแล้ง ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษาอาหรับ “maeru” หมายถึงดวงอาทิตย์ น่าจะหมายถึงเป็นพืชที่ชอบแสงแดดจัด หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร
|