ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ไม่ผลัดใบ ใบเรียงเวียนหนาแน่นช่วงปลายกิ่ง แผ่นใบหนา ช่อดอกแบบช่อเชิงลดหรือช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกมีกลิ่นหอม ใบประดับ 2 ใบ ขอบมีขนต่อมยาว กลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกป็น 5 แฉก ติดทน ขอบมีขนยาวเป็นต่อมเล็ก ๆ กลีบดอก 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 5–10 อัน รังไข่ใต้วงกลีบ มี 1 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียติดทน ผลแบบผลเทียม (pseudocarp) แห้งเปลือกแข็ง รูปรีหรือรูปกระสวย
สกุล Lumnitzera เป็นไม้ป่าโกงกาง มี 2 ชนิด พบในแอฟริกาตะวันออก เอเชีย และออสเตรเลียตอนบน ในไทยมีทั้ง 2 ชนิด พบตามหมู่เกาะ ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยและอันดามัน ใบคล้ายกันมาก แต่ฝาดแดงดอกสีแดงขนาดใหญ่ ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ก้านดอกสั้น และเกสรเพศผู้ยาวประมาณ 2 เท่าของกลีบดอก ส่วนฝาดขาวช่อดอกออกตามซอกใบ ดอกสีขาว ไร้ก้าน และเกสรเพศผู้ยาวเท่า ๆ กลีบดอก นอกจากนี้ยังพบลูกผสมมีดอกเป็นสีชมพู ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน Stephan Lumnitzer (1750–1806)
|