สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



แรดหนุนหิน
วันที่ 28 เมษายน 2560

Loeseneriella pauciflora (DC.) A.C.Sm.

Celastraceae

ไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มทอดเลื้อย หูใบร่วมรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ ยาว 3.5–16 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว ขอบจักมนหรือเรียบ ก้านใบยาว 3–7 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก ยาว 1–4 ซม. มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ก้านช่อยาว 1–2 ซม. ใบประดับขนาดเล็ก ก้านดอกยาว 2–5 มม. กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ดอกสีเหลืองอมเขียว ด้านนอกมีขน มี 5 กลีบ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 3–5 มม. เกสรเพศผู้ 3 อัน ติดที่โคนเกสรเพศเมีย ยาวประมาณ 2 มม. จานฐานดอกกลม รังไข่มี 3 ช่อง ติดบนจานฐานดอก ผลแห้งแตก มี 3 ฝัก กางออก รูปไข่กลับหรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 2.5–8 ซม. แต่ละฝักมี 5–8 เมล็ด รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 1–2 ซม. โคนมีปีกยาว 2–4 ซม.

พบในภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย นิวกินี และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น หรือบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร

สกุล Loeseneriella A. C. Sm. มี 26 ชนิด พบในแอฟริกาและเอเชีียเขตร้อน ในไทยมี 3 ชนิด ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน Ludwig Eduard Theodor Loesener (1865–1941)

ชื่อพ้อง  Hippocratea pauciflora DC.

แรดหนุนหิน: ใบเรียงตรงข้ามสลับฉากตั้งฉาก ดอกสีเหลืองอมเขียว เกสรเพศผู้ 3 อัน ผลมี 3 ฝัก กางออก แห้งแตก (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, มนตรี ธนรส)

เอกสารอ้างอิง

Hou, D., I.A. Savinov and P.C. van Welzen. (2010). Celastraceae. In Flora of Thailand Vol. 10(2): 397–400.