Index to botanical names
Campanulaceae
ไม้ล้มลุก ลำต้นทอดเลื้อย ยาวได้ถึง 50 ซม. มีรากตามข้อ ลำต้นมักมีขนยาว ใบเรียงเวียน รูปไข่หรือเกือบกลม ยาว 0.7–2.5 ซม. ปลายแหลม มนหรือกลม โคนรูปหัวใจ เบี้ยว แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขน ขอบจักซี่ฟันตื้น ๆ ก้านใบยาวได้ถึง 1.5 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกยาว 0.7–3.5 ซม. ฐานดอกรูปถ้วย ยาว 2–4 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 2.5–6 มม. ขอบจักซี่ฟันห่าง ๆ 2–3 คู่ ดอกสีม่วงอมเขียวหรือแดง ด้านในมีปื้นสีเหลืองอ่อน ยาว 0.6–1 ซม. กลีบบน 2 กลีบ แฉกลึกจรดโคน รูปสามเหลี่ยม ขอบกลีบเว้า กลีบล่าง 3 กลีบ รูปขอบขนาน ยาวกว่ากลีบบน โคนคอด ด้านในหลอดกลีบมีขนยาว เกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเหนือกึ่งกลางหลอด อับเรณูที่เชื่อมติดกันยาว 1–1.5 มม. ผลสดมีหลายเมล็ด สีม่วงอมแดง รูปกลมหรือรี ยาว 0.7–1.5 ซม. เมล็ดผิวเป็นร่างแห (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ หญ้าผักเบี้ย, สกุล)พบที่อินเดีย บังกลาเทศ ภูฏาน ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย นิวกินี และฟิลิปปินส์ ในไทยพบกระจายแทบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามร่มเงาในป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ความสูง 600–1600 เมตร น้ำสกัดจากต้นแก้ท้องเสีย แผลในกระเพาะอาหาร และแก้กษัย
ชื่อพ้อง Lobelia begoniifolia Wall., Pratia begoniifolia (Wall.) Lindl.
ผักลืมผัว: ลำต้นและใบมีขนยาว ขอบใบจักซี่ฟันตื้น ๆ โคนใบรูปหัวใจ ดอกสมมาตรด้านข้าง ผลรูปรีหรือกลม สีม่วงอมแดง กลีบเลี้ยงติดทน (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ราชันย์ ภู่มา)
de Wilde, W.J.J.O. and B.E.E. Duyfjes. (2014). Campanulaceae. In Flora of Thailand Vol. 11(4): 528–530.
Hong, D., G. Song, T.G. Lammers and L.L. Klein. (2011). Campanulaceae. In Flora of China Vol. 19: 556.