ไม้ล้มลุก ลำต้นทอดนอน เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม ใบรูปไข่กว้าง ส่วนมากด้านกว้างยาวกว่าด้านยาว กว้าง 3–9 ซม. ขอบจักมน 5–7 จัก หรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย โคนรูปหัวใจตื้น ๆ ส่วนมากมีขนสั้นนุ่มตามเส้นแขนงใบทั้งสองด้าน เส้นโคนใบ 7–9 เส้น ก้านใบยาวได้ถึง 17 ซม. มีขนยาว ช่อดอกออกเป็นกระจุกหลายช่อ ส่วนมากก้านช่อยาวไม่เกิน 2 ซม. มักสั้นกว่าก้านใบ ดอกจำนวนมาก ก้านดอกสั้นมากหรือยาวได้ถึง 2 มม. กลีบดอกรูปขอบขนาน มักมีแต้มสีม่วงแดง ยาวประมาณ 1 มม. ผลกลมแป้น กว้าง 1.5–1.8 มม. ยาว 1–1.3 มม. เกลี้ยง
พบในเอเชียเขตร้อน จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ขึ้นตามที่ชื้นแฉะหรือชายป่า ความสูงถึงประมาณ 2000 เมตร ทั้งต้นมีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง ใบหรือทั้งต้นใช้เบื่อปลาหรือเป็นยาฆ่าแมลง
|
ชื่อพ้อง Hydrocotyle nepalensis Hook., H. polycephala Wight & Arn.
|
|
ชื่อสามัญ Java pennywort
|
ชื่ออื่น กะเซดอมีเดาะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); บัวบกเขา (นครศรีธรรมราช); ผักแว่นเขา (ตราด); ผักหนอก (ภาคใต้); ผักหนอกเขา, ผักหนอกช้าง (ภาคเหนือ); ผักหนอกดอย (เชียงใหม่); ผักหนอกป่า (แม่ฮ่องสอน)
|
|
ผักหนอกเขา: ใบด้านกว้างยาวกว่าด้านยาว ผลเกลี้ยง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
|
|