Index to botanical names
Apocynaceae
ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่ง แผ่นใบ ช่อดอก และกลีบเลี้ยงด้านนอก ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 4.5–30 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว แผ่นใบบาง มีขนสั้นนุ่มหรือเกลี้ยง ก้านใบยาว 2–4 มม. ช่อดอกส่วนมากออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว 4–10 ซม. ใบประดับยาว 1–4 มม. ร่วงเร็ว ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 2–4 มม. ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม หลอดกลีบดอกยาว 0.8–1.4 ซม. กลีบรูปไข่กลับหรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 1–2 ซม. ก้านชูอับเรณูโคนมีขน อับเรณูยาวประมาณ 1.5 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 1.8–2.5 มม. รวมยอดเกสร ผลออกเป็นคู่ ห้อยลง มีช่องอากาศกระจาย ยาว 18–34 ซม. เมล็ดเกลี้ยง กระจุกขนจำนวนมาก ยาว 2.3–4.5 มม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ พุดทุ่ง, สกุล)พบที่แอฟริกา อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ พม่า จีน และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง ความสูงถึงประมาณ 1100 เมตร เปลือกมีสรรพคุณรักษาอาการบิดและท้องเสีย แก้พิษไข้
ชื่อพ้อง Holarrhena antidysenterica (L.) Wall. ex A.DC.
ชื่ออื่น ซอทึ, พอแก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); พุด (กาญจนบุรี); พุทธรักษา (เพชรบุรี); มูกมันน้อย, มูกมันหลวง, มูกหลวง, โมกเขา, โมกทุ่ง, โมกหลวง (ภาคเหนือ); โมกใหญ่ (ภาคกลาง); ยางพูด (เลย); ส่าตึ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); หนามเนื้อ (เงี้ยว-ภาคเหนือ)
โมกใหญ่: ช่อดอกส่วนมากออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกเวียนทับด้านขวาในตาดอก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
Middleton, D.J. (1999). Apocynaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(1): 75.