ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. เปลือกเรียบ ใบรูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ ยาว 70–40 ซม. เส้นโคนใบ 5–9 เส้น ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนใบแบบก้นปิด ก้านใบยาว 0.5–3 ซม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ก้านช่อยาว 6–20 ซม. ช่อแขนงแบบช่อวงแถวเดี่ยว ช่อย่อยแบบช่อเชิงหลั่น วงใบประดับมี 4 ใบ รูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 2–6 มม. แต่ละวงมี 3 ดอก ดอกคู่ข้างเป็นดอกเพศผู้ ก้านดอกยาว 4–4.5 มม. กลีบรวม 6 กลีบ เรียง 2 วง ยาวประมาณ 5 มม. เกสรเพศผู้ 3 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3 มม. โคนมีต่อม 2 ต่อม อับเรณูสีเหลือง ดอกกลางเพศเมีย ไร้ก้าน กลีบรวม 8 กลีบ เรียง 2 วง ยาวประมาณ 5 มม. รังไข่มีกาบรูปถ้วย ขยายในผล ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 3 มม. มีปุ่มกระจาย โคนมีต่อมประมาณ 4 ต่อม ยอดเกสรบานออกรูปถ้วย สีชมพู ผลผนังชั้นในแข็ง รูปรี ยาว 2.5–3 ซม. มีริ้ว 8 ริ้ว ตามยาว กาบรูปถ้วยหุ้มหลวม ๆ ปลายผลมีติ่งแผ่กว้างประมาณ 1 ซม. มีเมล็ดเดียว
พบที่แอฟริกา ศรีลังกา ไห่หนาน ไต้หวัน ญี่ปุ่น กัมพูชา เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเชีย ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทางภาคใต้ตามหมู่เกาะฝั่งทะเลอันดามัน แถบจังหวัดกระบี่ และพังงา ขึ้นตามชายหาดและริมฝั่งทะเล รากมีสรรพคุณแก้พิษจากสัตว์ทะเล
สกุล Hernandia L. มีประมาณ 25 ชนิด พบในอเมริกากลาง แอฟริกา เอเชีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวสเปน Francisco Hernández (1517–1587)
|
ชื่อพ้อง Biasolettia nymphaeifolia C.Presl, Hernandia peltata Meisn.
|
|
ชื่อสามัญ Jack in a box tree
|
ชื่ออื่น โกงพะเหม่า (สุราษฎร์ธานี); โปง, โพกระดิ่ง (กระบี่); โพกริ่ง (สุราษฎร์ธานี)
|
|
โพกริ่ง: โคนใบรูปก้นปิด ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อเชิงหลั่น วงใบประดับมี 4 ใบ แต่ละวงมี 3 ดอก ดอกคู่ข้างเป็นดอกเพศผู้ มีก้านดอก ดอกกลางเพศเมีย ไร้ก้าน กลีบรวม 8 กลีบ เรียง 2 วง โคนก้านเกสรเพศเมียมีต่อม 4 ต่อม ยอดเกสรรูปถ้วย ผลมีกาบรูปถ้วยหุ้ม ปลายมีติ่งแผ่กว้าง (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)
|
|