ไม้ล้มลุก สูง 10–20 ซม. ลำต้นเป็นเหลี่ยม มีขนสั้นนุ่มตามลำต้น แผ่นใบด้านล่าง และก้านใบ หูใบร่วมรูปรีกว้าง ยาว 1–2.5 มม. จัก 1–3 พู ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ส่วนมากมี 2 คู่ รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 1–6 ซม. ปลายแหลมหรือกลม โคนกลมหรือตัด ก้านใบสั้นหรือยาวประมาณ 5 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ยอด 1–7 ช่อ ยาว 3–10 ซม. ก้านช่อยาว 1.5–4 ซม. ใบประดับขนาดเล็ก ก้านดอกยาวได้ถึง 1.2 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ดอกรูประฆัง หลอดกลีบดอกยาว 1–1.5 มม. ปากหลอดมีขนเครายาว มี 4 กลีบ รูปขอบขนาน ยาวกว่าหลอดกลีบเล็กน้อย ปลายเป็นติ่งแหลม เกสรเพศผู้ 4 อัน เกสรเพศเมียสั้นกว่าเกสรเพศผู้ ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ผลแห้งแตก รูปรีกว้าง ปลายตัด เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–3 มม. เมล็ดจำนวนมากขนาดเล็ก เป็นเหลี่ยม
พบที่ปากีสถาน อินเดีย เนปาล ศรีลังกา จีนตอนใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในไทยส่วนมากพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นใต้ร่มเงาในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง ความสูง 100–1300 เมตร
สกุล Hedyotis L. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Rubioideae เผ่า Spermacoceae คล้ายกับสกุล Oldenlandia และอาจถูกแยกออกเป็นหลายสกุลรวมถึงชนิดนี้ เดิมมีประมาณ 200 ชนิด พบในเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมีประมาณ 25 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “hedys” หอม และ “otos” หู ตามลักษณะดอกและมีกลิ่นหอม
|