| ตาเหิน สกุล
| | | วันที่ 31 ตุลาคม 2559 |
| |
ไม้ล้มลุก บางครั้งขึ้นบนหิน หรืออิงอาศัย มีเหง้า ลิ้นกาบชัดเจน ใบเรียงสลับระนาบเดียว ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอด ตั้งขึ้น ใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อม มีหนึ่งหรือหลายดอก ใบประดับย่อยเป็นหลอด กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด แยกจรดโคนด้านเดียว ปลายจัก 3 พู กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว มี 3 กลีบ กลีบข้างรูปแถบ พับงอกลับ กลีบปากเป็นแผ่นกว้าง ปลายแยก 2 แฉก มีก้านกลีบ แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันด้านข้างใหญ่กว่ากลีบดอก ก้านชูอับเรณูเรียวยาว อับเรณูติดด้านหลัง โคนกางออก ปลายแกนอับเรณูไม่มีรยางค์ รังไข่มี 3 ช่อง พลาเซนตารอบแกนร่วม ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ผลแห้งแตกเป็น 3 ซีก เมล็ดจำนวนมาก มีเยื่อหุ้ม ขอบวิ่น
สกุล Hedychium อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Zingiberoideae มีประมาณ 50 ชนิด พบในมาดากัสการ์ เอเชียเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในไทยมี 28–30 ชนิด หลายชนิดพบเป็นไม้ประดับ เช่น ข่าดง H. coccineum Buch.-Ham. ex Sm. ตาเหินไหว H. ellipticum Buch.-Ham. ex Sm. และมหาหงส์ H. coronarium J. Koenig เป็นต้น ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “hedys” หอมหวาน และ “chion” หิมะ ตามลักษณะดอกสีขาวในบางชนิด และมีกลิ่นหอม
| | | | | | ตาเหินไหว: ดอกเรียงหนาแน่น ใบประดับสั้น ก้านชูอับเรณูยาวกว่ากลีบปาก (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)
|
|
|
เอกสารอ้างอิง | Larsen, K. and S.S. Larsen. (2006). Gingers of Thailand. Queen Sirikit Botanic Garden. Chiang Mai. |
| Sabu, M. (2006). Zingiberaceae and Costaceae of South India. Kerala, India. Indian Association for Angiosperm Taxonomy, Calicut University. |
| Sirirugsa, P. (1995). The genus Hedychium (Zingiberaceae) in Thailand. Nordic Journal of Botany 15(3): 301–304. |
| Wu, D. and K. Larsen. (2000). Zingiberaceae. In Flora of China Vol. 24: 370–373. |