| | Harpullia cupanioides Roxb. |
|
ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. หรืออาจสูงถึง 40 ม. มีพูพอน แยกเพศต่างต้น กิ่งอ่อนมีขนยาว ไม่มีหูใบ ใบประกอบปลายคู่ ปลายยอดมีตา ใบย่อยส่วนมากมีข้างละ 3–6 ใบ เรียงสลับ ก้านใบประกอบยาว 15–20 ซม. ใบรูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ยาว 5–36 ซม. ปลายแหลม แหลมยาว หรือมน โคนแหลมถึงกลม เบี้ยว ก้านใบย่อยยาว 5–8 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 85 ซม. ใบประดับรูปใบหอก ร่วงเร็ว ก้านดอกยาว 6–8 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปรี ยาว 3–6 มม. ติดทน ดอกสีขาวอมเหลือง มี 5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 1–2.4 ซม. ค่อนข้างหนา จานฐานดอกรูปวงแหวน มีขนยาว เกสรเพศผู้ 5 อัน สั้นกว่ากลีบดอกเล็กน้อย ก้านชูอับเรณูยาว 2.5–3.5 มม. อับเรณูสีส้มอ่อน รังไข่มี 2 ช่อง มีขนสั้นนุ่ม แต่ละช่องมีออวุล 1–2 เม็ด ยอดเกสรเพศเมียบิดเวียน ผลแห้งแตก จักเป็นพูตื้น ๆ รูปรี ยาว 2–3 ซม. เมล็ดสีน้ำตาลดำ รูปรี ยาว 1.3–1.5 ซม. เยื่อหุ้มสีส้มแดง หุ้มเมล็ดจนมิด
พบที่อินเดีย บังกลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ออสเตรเลีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าดิบชื้น โดยเฉพาะริมลำธาร ความสูงถึงประมาณ 1800 เมตร เปลือกมีพิษใช้เบื่อปลา
สกุล Harpullia Roxb. มีประมาณ 26 ชนิด พบในเอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ หอมไกลดง H. arborea (Blanco) Radlk. กลีบดอกมีก้านกลีบ ผลจักเป็นพู ด้านกว้างยาวกว่าด้านยาว เมล็ดมีเยื่อหุ้มที่โคน ชื่อสกุลเป็นภาษาเบงคลีของบังกลาเทศที่ใช้เรียกหงอนไก่ดง
| | | | ชื่ออื่น ขางขาว, บาหานธาร (ภาคเหนือ); พริกป่า, ลูกกระโปกม้า (ภาคตะวันออกเฉียงใต้); หงอนไก่ดง (ภาคใต้)
| หงอนไก่ดง: ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ดอกสีขาวอมเหลือง กลีบค่อนข้างหนา ผลจักเป็นพูตื้น ๆ เยื่อหุ้มสีส้มแดง หุ้มเมล็ดจนมิด (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, นัยนา เทศนา)
|
|
|
เอกสารอ้างอิง | Leenhouts, P.W. and M. Vente. (1994). Sapindaceae. Flora Malesiana Vol. 11: 606–608. |
| van Welzen, P.C. (1999). Sapindaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(1): 207–212. |
| Xia, N. and P.A. Gadek. (2007). Sapindaceae. In Flora of China Vol. 12: 8. |