สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



แก้วเจ้าจอม
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Guaiacum officinale L.

Zygophyllaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. ข้อพองเป็นปุ่ม ใบประกอบปลายคู่ ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ใบย่อยมี 2–3 คู่ รูปไข่กลับหรือรูปรีกว้าง ปลายมนกลม โคนรูปลิ่มกว้าง ไร้ก้าน ช่อดอกแบบช่อกระจุก มี 3–4 ดอก ออกตามปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก 5 กลีบ ดอกสีฟ้าอมม่วงหรือขาว มี 5 กลีบ รูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 1–2 ซม. รวมก้านสั้น ๆ เกสรเพศผู้ 10 อัน อับเรณูติดที่ด้านหลัง รังไข่ 2–5 ช่อง เกสรเพศเมีย 1 อัน ผลแห้งแตกรูปหัวใจ แบน ยาว 1.5–2 ซม. ปลายมีติ่งแหลม ขอบหนา 2 ข้าง สีเหลืองอมส้ม มี 1–2 เมล็ด เมล็ดมีเยื่อหุ้มสีแดง

มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ อเมริกากลาง และรัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกา เป็นดอกไม้ประจำชาติของจาไมก้า อยู่ในบัญชีที่ 2 ของ CITES เนื้อไม้โดยเฉพาะแก่นมีความแข็งแรงสูง เป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน ชื่อสามัญ Lignum vitae หมายถึงไม้แห่งชีวิต (wood of life) อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำต้นกล้ามาจากเกาะชวา และทรงปลูกที่วังสวนสุนันทา เป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

สกุล Guaiacum L. มีประมาณ 5 ชนิด พบเฉพาะในทวีปอเมริกา ชื่อสกุลมาจากภาษาสเปนในอเมริกาใต้ “guaiac” หรือ “guayaco” ที่ใช้เรียกแก้วเจ้าจอม

แก้วเจ้าจอม: ใบประกอบปลายคู่ มีใบย่อย 2–3 คู่ ไร้ก้าน กลีบดอกสีฟ้าอมม่วง ผลรูปหัวใจ ปลายมีติ่งแหลม ขอบผลหนา (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

เอกสารอ้างอิง

ราชบัณฑิตยสถาน. (2547). อนุกรมวิธานพืชอักษร ก. พิมพ์ครั้งที่ 2. ราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ.

Staples, G.W. and D.R. Herbst. (2005). A tropical garden flora. Bishop Museum Press, Honolulu, Hawai`i.