สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



เจราเนียมเชียงดาว
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561

Geranium lamberti Sweet subsp. siamense (Craib) T.Shimizu

Geraniaceae

ไม้ล้มลุก ทอดเลื้อย ยาว 15–40 ซม. มีขนยาวหนาแน่นตามหูใบ ก้านใบ แผ่นใบทั้งสองด้าน ช่อดอก ก้านดอก ใบประดับ กลีบเลี้ยงด้านนอก โคนกลีบดอกด้านใน และผล หูใบรูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน ยาว 0.3–1 ซม. ใบรูปฝ่ามือมี 5 ส่วน แยกเกือบจรดโคน กว้างยาวได้ถึง 8 ซม. แต่ละส่วนจักเป็นพูตื้น ๆ ใบช่วงปลายกิ่งขนาดเล็ก ก้านใบยาวได้ถึง 20 ซม. โดยเฉพาะใบที่โคนต้น ช่อดอกส่วนมากมี 2 ดอก ก้านช่อยาว 2–7 ซม. ก้านดอกยาว 1–6 ซม. ใบประดับย่อยรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ 5 มม. กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ยาว 0.5–1 ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม ยาว 1–2 มม. ติดทน กลีบดอกสีชมพูอ่อนอมม่วง เส้นกลีบสีเข้ม แผ่นกลีบรูปไข่กลับกว้าง ยาว 1.5–1.8 ซม. ปลายมนกลม หรือเว้าตื้น โคนเรียวแคบ ก้านชูอับเรณูสีขาวอมชมพูช่วงปลายสีม่วง ยาว 8–9 มม. โคนแผ่กว้าง หนา มีขน อับเรณูรูปขอบขนาน ขนาดประมาณ 0.5 มม. ยอดเกสรเพศเมียสีค้ำ ติดทน ยาวประมาณ 5 มม. ในผล ผลเรียวยาว 1.5–2 ซม. เมล็ดรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 3 มม. มีขนยาว

พืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นตามซอกหินปูน ความสูง 1900–2200 เมตร คล้ายกับชนิดย่อย subsp. lamberti ที่พบที่อินเดีย ปากีสถาน ภูฏาน และเนปาล แต่ไม่มีขนต่อมตามก้านดอกและกลีบเลี้ยงด้านนอก ก้านเกสรเพศผู้ไม่มีสีเข้ม

ชื่อพ้อง  Geranium siamense Craib

เจเรเนียมเชียงดาว: ใบรูปฝ่ามือมี 5 ส่วน กลีบดอกรูปไข่กลับ ก้านชูอับเรณูสีเข้ม (ภาพ: Chistian Puff)

เอกสารอ้างอิง

Craib, W.G. (1926). Contributions to the Flora of Siam. Bulletin of Miscellaneous Information Kew 1926: 158–159.

Duke. J. A. and Ayensu. E. S. (1985). Medicinal Plants of China Reference Publications, Inc. Algonac. 705 pp.

Langran Xu & Carlos Aedo. (2008). Geraniaceae. In Flora of China Vol. 11: 15.

Smitinand, T., Shimizu, T., Koyama, H. & Fukuoka, N. (1970). Contributions to the Flora of Southease asia 1. Taxonomy and phytogeography of some temperate species in Thailand. Tonan Ajia Kenkyu Vol. 8, No.2: 180.