Index to botanical names
Rubiaceae
ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. ยอดมีน้ำยางเหนียวสีเหลือง มีขนสั้นนุ่มตามหูใบ แผ่นใบด้านล่าง และก้านใบ หูใบเชื่อมติดกันเป็นวงรอบกิ่ง ยาว 0.5–1 ซม. ร่วงเร็ว ทิ้งรอยชัดเจน ใบเรียงตรงข้าม รูปรีถึงรูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 10–30 ซม. ก้านใบยาว 0.5–1.2 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 1–1.5 ซม. หลอดกลีบเลี้ยงยาว 1–2 ซม. ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๆ 5 แฉก แยกเกือบจรดโคนด้านเดียว ดอกสีเหลืองหรือขาว หลอดกลีบดอกยาว 5–7 ซม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 3–5 ซม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดใต้ปากหลอดกลีบดอกระหว่างกลีบดอก ไร้ก้านชูอับเรณู เกสรเพศเมียยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ยอดเกสรรูปกระบอง ผลสดมีหลายเมล็ด รูปรี ยาว 2.5–5 ซม. มี 5–6 สันพบที่จีนตอนใต้ พม่า ลาว ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขึ้นตามป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร บางครั้งพบเป็นไม้ประดับสกุล Gardenia L. มีมากกว่า 60 ชนิด แต่อาจมีได้ถึง 250 ชนิด ในไทยมีพืชพื้นเมืองมากกว่า 10 ชนิด และมีหลายชนิดพบเป็นไม้ประดับ ที่พบทั่วไป ได้แก่ พุดซ้อน G. jasminoides J.Ellis มีถิ่นกำเนิดในจีนและไต้หวัน และพุดน้ำบุษย์ G. carinata Wall. ex Roxb. หลอดกลีบดอกยาว พบทางภาคใต้ ชื่อสกุลตั้งตามนักธรรมชาติวิทยาชาวอเมริกันที่เกิดในสกอตแลนด์ Alexander Garden (1730–1791)
ชื่อสามัญ Golden Gardenia
ชื่ออื่น ไข่เน่า (นครพนม); คำมอกช้าง, คำมอกหลวง (ภาคเหนือ); ผ่าด้าม, ยางมอกใหญ่ (นครราชสีมา); สะแล่งหอมไก๋, หอมไก๋ (ลำปาง)
คำมอกหลวง: ดอกสีเหลือง เกสรเพศผู้ติดใต้ปากหลอดกลีบดอกระหว่างกลีบดอก เกสรเพศเมียยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ยอดเกสรรูปกระบอง ผลมี 5–6 สัน (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)
Chen, T. and C.M. Taylor. (2011). Rubiaceae (Gardenia). In Flora of China Vol. 19: 143.
Puff, C., K. Chayamarit and V. Chamchumroon. (2005). Rubiaceae of Thailand. Forest Herbarium. Bangkok.