สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ไทร  สกุล
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

Ficus L.

Moraceae

ไม้ต้น ไม้พุ่ม หรือไม้เถา ขึ้นบนดินหรือกึ่งอิงอาศัย แยกเพศร่วมต้นหรือต่างต้น ส่วนต่างๆ มีน้ำยางขาวหรือใส หูใบหุ้มตา กิ่งมีรอยแผลหูใบเป็นวงรอบข้อ ใบส่วนมากเรียงเวียนหรือเรียงสลับระนาบเดียว แผ่นใบด้านล่างมักมีต่อมไขตามโคนเส้นใบใกล้โคนใบ หรือมีผลึกซิสโทลิท (cystoliths) ดอกขนาดเล็กจำนวนมากเรียงแน่นอยู่ภายในฐานรองดอกที่โอบหุ้มดอกไว้ภายใน เรียกว่า syconium หรือ fig มีช่องเปิด มักมีใบประดับที่โคน ดอกเพศผู้ กลีบรวม 2–6 กลีบ แยกหรือติดกัน หรือไม่มีกลีบรวม เกสรเพศผู้ 1–5 อัน ดอกเพศเมียก้านยาว กลีบรวม 3–5 กลีบ แยกหรือติดกัน ยอดเกสรเพศเมีย 1–2 อัน ดอกที่เป็นหมันเป็นปม หรือ gall flower ก้านเกสรเพศเมียสั้น เป็นที่อยู่ของต่อไทร (wasp) บางชนิดมีดอกแบบไม่มีเพศหรือ neuter flower คือไม่มีทั้งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมีย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับแมลงแบบพึ่งพากัน ผลขนาดเล็ก คล้ายแบบผนังชั้นในแข็งหรือผลแห้งเมล็ดล่อน เมล็ดมีเอนโดสเปิร์ม

สกุล Ficus มีมากกว่า 800 ชนิด ส่วนใหญ่พบในเขตร้อน ในไทยมีประมาณ 115 ชนิด เป็นพืชต่างถิ่น 7–8 ชนิด หลายชนิดผลสุกกินได้ และมีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง ชื่อสกุลมาจากภาษาละตินที่ใช้เรียกชนิด F. carica L. แบ่งเป็น 6 สกุลย่อย

1. Ficus แยกเพศต่างต้น figs มักออกเป็นคู่ตามซอกใบหรือตามกิ่งที่ใบหลุดร่วง ใบประดับที่โคน 3 ใบ ดอกเพศผู้อยู่ใกล้ช่องเปิดหรือกระจายทั่วไป กลีบรวม 3–5 กลีบ แยกกัน เกสรเพศผู้ 1–4 อัน ดอกเพศเมียก้านเกสรเพศเมียยาวไม่เท่ากัน ยอดเกสรเพศเมียแตกแขนงหรือเรียบ ในไทยมีประมาณ 20 ชนิด เช่น ไทรใบขน F. fulva Reinw. ex Blume มะนอดน้ำ F. hirta Vahl และเดื่อน้ำ F. ischnopoda Miq.

2. Pharmacosycea แยกเพศร่วมต้น แผ่นใบมีผลึกซิสโทลิท figs ออกเป็นคู่ ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก ส่วนมากออกตามซอกใบ มีก้านหรือก้านผลเทียม ใบประดับที่โคนส่วนมากมี 3 ใบ ช่องเปิดมี 3–5 ใบ กลีบรวม 2–6 กลีบ เกสรเพศผู้ 1–3 อัน มีที่เป็นหมัน ในไทยมี 5 ชนิด เช่น มะเดื่อกวาง F. callosa Willd.

3. Sycidium แยกเพศต่างต้น แผ่นใบมีผลึกซิสโทลิท figs มีปุ่มหรือจุดโปร่งแสง ออกเดี่ยวๆ หรือเป็นคู่ ตามซอกใบ กิ่ง หรือลำต้น ใบประดับ 1–3 ใบ ส่วนมากมีใบประดับด้านข้าง ช่องเปิดขนาดเล็กหรือมีใบประดับที่ปลายชี้ขึ้น ดอกเพศผู้อยู่ใกล้ช่องเปิด กลีบรวม 3–6 กลีบ เกสรเพศผู้มักมี 1 อัน มีดอกเพศผู้ที่เป็นหมัน ดอกเพศเมีย กลีบรวม 3–6 กลีบ แยกกัน ในไทยมี 15 ชนิด เช่น ไทรหิน F. anastomosans Wall. ex Kurz มะนอดน้ำ F. heterophylla L.f. และมะเดื่อหิน F. montana Burm.f.

4. Sycomorus แยกเพศต่างต้นหรือร่วมต้น มักมีต่อมไขตามข้อกิ่ง figs เกลี้ยง มีปุ่มหรือเป็นสัน ออกเป็นคู่หรือออกเดี่ยวๆ ตามซอกใบ ตามกิ่ง หรือเป็นช่อตามลำต้นหรือไหล ใบประดับ 3–7 ใบ ส่วนมากมีใบประดับด้านข้าง ช่องเปิดมีใบประดับมากกว่า 3 ใบ ดอกเพศผู้เรียงอยู่ใกล้ช่องเปิด ส่วนมากมีใบประดับย่อย 2 ใบ วงกลีบรวม 2–3 กลีบ เกสรเพศผู้ส่วนมากมี 2 อัน ดอกเพศเมีย วงกลีบรวม 3–6 กลีบ เชื่อมติดกัน แยกกัน หรือลดรูป ยอดเกสรเพศเมีย 1 อัน ในไทยมีประมาณ 16 ชนิด เช่น เดื่อหว้า F. auriculata Lour. มะเดื่ออุทุมพร F. racemosa L. จิ้งเขา F. schwarzii Koord. และเดื่อปล้องหิน F. semicordata Buch.-Ham. ex Sm.

5. Synoecia ไม้เถา มีรากเกาะ สั้นๆ ตามข้อ แยกเพศต่างต้น ใบที่โคนรูปร่างและขนาดต่างจากใบที่ออกตามเถาที่มี figs ติดอยู่ ปลายใบคล้ายรูปหยดน้ำ figs ออกตามกิ่ง ลำต้น หรือตามไหล ออกเป็นคู่ เป็นกระจุก หรือออกเดี่ยว ๆ ใบประดับที่โคน 3 ใบ ส่วนมากไม่มีใบประดับด้านข้าง ช่องเปิดขนาดเล็ก บุ๋มเล็กน้อย อาจมีขนแข็งด้านใน เกสรเพศผู้ 1–2 อัน กลีบรวมมีได้ถึง 7 กลีบ หรือไม่มี สีแดงเข้ม รังไข่ส่วนมากมีก้าน มีดอกที่ไม่มีเพศในช่อดอกเพศเมีย ในไทยมี 14 ชนิด เช่น ตีนตุ๊กแก F. pumila L. และเดื่อเถาใบใหญ่ F. punctata Thunb.

6. Urostigma ส่วนใหญ่เป็นไม้กึ่งอิงอาศัย มีรากอากาศ แยกเพศร่วมต้น แผ่นใบด้านล่างมีต่อมไขที่โคนเส้นกลางใบ 1 ต่อม figs เกลี้ยง ออกเป็นคู่หรือออกเดี่ยวๆ ตามซอกใบหรือตามกิ่ง ใบประดับที่โคน 2–3 ใบ ไม่มีใบประดับด้านข้าง ช่องเปิดมีใบประดับ 2–5 ใบ ปิดด้านบน ดอกเพศผู้เรียงกระจายระหว่างดอกเพศเมีย หรืออยู่ใกล้ช่องเปิด กลีบรวม 3–5 กลีบ เกสรเพศผู้ 1 อัน ยอดเกสรเพศเมียส่วนมากมี 1 อัน ในไทยมีประมาณ 45 ชนิด เช่น ไทร F. annulata Blume นิโครธ F. benghalensis L. ไทรย้อย F. benjamina L. มะดื่อหิน F. orthoneura H.Lév. & Vaniot โพศรีมหาโพธิ F. religiosa L. และโพขี้นก F. rumphii Blume


เอกสารอ้างอิง

Berg, C.C., N. Pattharahirantricin and B. Chantarasuwan. (2011). Moraceae in Flora of Thailand Vol. 10(4): 475–675.