สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

แก่นแดง
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Erythroxylum cuneatum (Miq.) Kurz

Erythroxylaceae

ดูที่ ไกรทอง



ไกรทอง
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Erythroxylum cuneatum (Miq.) Kurz

Erythroxylaceae

ไม้ต้น อาจสูงได้ถึง 30 ม. หูใบอยู่ในซอกก้านใบ ยาวประมาณ 6 มม. ติดทน ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 4–10 ซม. ปลายมนหรือเว้าตื้น ก้านใบยาว 3–7 มม. ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบ ใบประดับ 2 ใบ ขนาดเล็ก ก้านดอกยาว 0.3–1 ซม. ขยายในผล หลอดกลีบเลี้ยงสั้น กลีบรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก มี 5 กลีบ ติดทน กลีบดอกเรียงซ้อนเหลื่อมในตาดอก มี 5 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 3–4 มม. โคนมีลิ้นสั้น ๆ เกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวไม่เท่ากัน 2 ชุด ยาวกว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย ติดทน รังไข่มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1–2 เม็ด ส่วนมากพัฒนาช่องเดียว ก้านเกสรเพศเมีย 3 อัน ติดทน ผลผนังชั้นในแข็ง รูปขอบขนาน ยาว 0.8–1 ซม. สุกสีแดง เมล็ดแบน เรียว ยาว 6–8 มม. ผิวเป็นร่อง

พบที่พม่า คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว สุมาตรา ชวา และฟิลิปปินส์ ในไทยพบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้นใกล้ชายฝั่งทะเล

สกุล Erythroxylum P. Browne มีประมาณ 230 ชนิด ส่วนมากพบในอเมริกาใต้ ในไทยมี 3 ชนิด และมีที่นำเข้ามาปลูกเพื่อการศึกษาวิจัย คือ โคคา E. novogranatense (D.Morris) Hieron. แผ่นใบมีเส้นผ่านเส้นร่างแหข้างละ 1 เส้นของเส้นกลางใบ ต่างจาก โคคา ชนิด E. coca Lam. ที่ใบขนาดเล็กกว่า ทั้งสองชนิดใบมีสาร crystalline tropane alkaloid หรือ cocaine มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทและระงับความต้องการของร่างกาย เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ของไทย ในทางการแพทย์ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ และยังเป็นส่วนผสมที่สำคัญของเครื่องดื่มที่ให้กลิ่นโคคาหรือที่เรียกว่าน้ำดำ ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “erythros” สีแดง และ “xylon” เนื้อไม้ ตามลักษณะของเนื้อไม้ในพืชหลายชนิดของสกุล

ชื่อสามัญ  Wild cocaine

ชื่ออื่น   แก่นแดง (ปราจีนบุรี); ไกรทอง (ภาคใต้); พิกุลทอง (ประจวบคีรีขันธ์)

ไกรทอง: ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบ ผลสุกสีแดง เกสรเพศเมียติดทน (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

เอกสารอ้างอิง

Chung, R.C.K. and M. Brink. (1999). In Plant Resources of South-East Asia 12(1) Medicinal and Poisonous Plants 1: Backhuys Publishers, Leiden.

Harwood, B. and K. Chayamarit. (2011). Erythroxylaceae. In Flora of Thailand Vol. 11(1): 8–13.

พิกุลทอง
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Erythroxylum cuneatum (Miq.) Kurz

Erythroxylaceae

ดูที่ ไกรทอง