ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 40 ซม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่ง แผ่นใบด้านบน ก้านช่อดอก ใบประดับ และกลีบเลี้ยงด้านนอก ใบเรียงตรงข้าม รูปรีกว้างเกือบกลม ยาว 4.5–20 ซม. ใบที่โคนขนาดใหญ่ ปลายแหลมหรือมน ขอบจักซี่ฟันหรือจักฟันเลื่อย โคนตัดหรือเว้าตื้น มักเบี้ยว แผ่นใบด้านล่างมักมีสีม่วง ก้านใบยาวได้ถึง 12 ซม. ใบช่วงปลายเรียงตรงข้าม ไร้ก้าน ช่อดอกแบบช่อวงแถวเดี่ยว เรียงแน่นคล้ายช่อซี่ร่ม ก้านช่อยาว 2–17 ซม. ใบประดับหุ้มรองช่อดอก รูปรี ยาว 1.3–3.5 ซม. ขอบจักซี่ฟัน ก้านดอกยาว 1–4 มม. กลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว 3.3–5 มม. แยก 5 แฉก รูปสามเหลี่ยม ติดทน ดอกรูประฆัง สีขาว ชมพู หรือม่วง มักมีจุดสีม่วงเข้มด้านในกลีบปากบน ยาว 6.5–9.5 มม. กลีบบน 2 กลีบ กลีบล่าง 3 กลีบ ขนาดประมาณ 2 มม. ด้านในมีปื้นขน เกสรเพศผู้ติดบนก้านชูที่เชื่อมติดกันเป็นแผ่นบาง ๆ อันที่สมบูรณ์ 2 อัน ยาว 1–2 มม. อับเรณูติดที่ฐาน ปลายอับเรณูติดกัน อันที่เป็นหมัน 2 อัน รังไข่มีช่องเดียว มีขนสั้นนุ่มเป็นตะขอ พลาเซนตาตามแนวตะเข็บ ก้านเกสรเพศเมียยาว 3–5 มม. ยอดเกสรจัก 2 พู ผลแห้งแตกตามขวาง รูปไข่กลับ ยาว 2–2.5 มม. เมล็ดจำนวนมาก ขนาดเล็ก
พบที่พม่า คาบสมุทรมลายู ชวา สุมาตรา และบอร์เนียว ในไทยพบทางภาคใต้ตั้งแต่สุราษฎร์ธานีลงไป ขึ้นตามซอกหินปูนริมลำธารในป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 900 เมตร
สกุล Epithema Blume มีประมาณ 20 ชนิด พบที่แอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย นิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอน ในไทยมีประมาณ 4 ชนิด อีก 3 ชนิด E. carnosum Benth., E. ceylanicum Wight และ E. membranaceum (King) Kiew ใบประดับขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่หุ้มช่อดอกเพียงเล็กน้อย ชื่อสกุลเป็นภาษากรีก “epithema” หมายถึงหุ้มด้านนอก ตามลักษณะช่อดอกที่ติดบนใบประดับ
|