ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. ใบรูปไข่กลับหรือรูปใบหอก ยาว 7–19 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนหรือเกลี้ยง ก้านใบยาว 0.5–4 ซม. ช่อดอกห้อยลง ยาว 6–10 ซม. ใบประดับคล้ายใบ ก้านดอกยาวได้ถึง 3 ซม. ขยายในผล กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ยาว 1–1.5 ซม. กลีบดอกรูปไข่ ยาวประมาณ 1.5 ซม. มีขนกระจายทั้งสองด้าน มีริ้วขนที่โคนกลีบด้านใน 2 แถบ ยาวประมาณ 6 มม. ชายครุยยาวประมาณ 3 มม. เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 1 ซม. แกนอับเรณูปลายเป็นรยางค์แข็ง จานฐานดอกจักตื้น ๆ 10 พู รังไข่มีขนสั้นนุ่ม ผลรูปรี ยาว 3–4 ซม. ปลายและโคนแหลม
พบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู และสุมาตรา ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามริมน้ำในป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 800 เมตร เป็นไม้ประดับ ส่วนต่าง ๆ มีพิษ น้ำสกัดจากผลและเมล็ดเป็นยาขับปัสสาวะ
|
|
|
ชื่อสามัญ Fairy petticoats, Lily of the valley
|
ชื่ออื่น กาบพร้าว (นราธิวาส); คล้ายสองหู (สุราษฎร์ธานี); ไคร้ย้อย (เชียงใหม่); จิก, ดอกปีใหม่ (กาญจนบุรี); แต้วน้ำ (บุรีรัมย์); ปูมปา (เลย); ผีหน่าย (สุราษฎร์ธานี); มุ่นน้ำ (เพชรบูรณ์); สารภีน้ำ (เชียงใหม่); อะโน (ปัตตานี)
|
|
ไคร้ย้อย: ช่อดอกแบบช่อกระจะ ห้อยลง ใบประดับคล้ายใบ ขอบกลีบดอกจักชายครุย ปลายแกนอับเรณูเป็นรยางค์แข็ง ผลปลายและโคนแหลม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, มานพ ผู้พัฒน์)
|
|