สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ขี้กาลาย
วันที่ 4 สิงหาคม 2559

Diplocyclos palmatus (L.) C.Jeffrey

Cucurbitaceae

ไม้เถาล้มลุก ยาว 2–7 ม. มีหัวใต้ดิน แยกเพศร่วมต้น มือจับแยก 2 แขนง ยาว 10–20 ซม. ใบประดับนอกบาง รูปไข่กลับ ยาว 2–5 มม. ใบรูปฝ่ามือแฉกลึก 3–7 แฉก เส้นผ่านศูนย์กลาง 4–16 ซม. ขอบจักฟันเลื่อยหรือเรียบ แผ่นใบด้านล่างมีขนตามเส้นแขนงใบ ก้านใบยาว 2–7 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ๆ ช่อดอกเพศผู้มีได้ถึง 10 ดอก ช่อดอกเพศเมียเรียงชิดช่อดอกเพศผู้ มี 1–5 ดอก ดอกเพศผู้ก้านดอกยาวได้ถึง 2 ซม. ดอกเพศเมียยาว 1–5 มม. ฐานดอกรูปถ้วย ยาว 2–4 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปแถบ ยาวประมาณ 2 มม. กลีบดอก 5 กลีบ หลอดกลีบยาวประมาณ 2 มม. กลีบรูปไข่ ยาว 3–5 มม. เกสรเพศผู้ 3 อัน 2 อัน มีถุงอับเรณู 2 อัน และ 1 อันมีถุงอับเรณูอันเดียว ถุงอับเรณูพับจีบ ก้านชูอับเรณูสั้น เป็นหมันในดอกเพศเมีย จานฐานดอกรูปวงแหวน ก้านเกสรเพศเมียแยก 3 แฉก ยาว 1–3 มม. ผลสด กลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2.5 ซม. มีแถบริ้วสีขาว สุกสีแดง มีประมาณ 12 เมล็ด รูปไข่กลับ ขอบหนา ยาว 5–8 มม.

พบที่แอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ ญี่ปุ่น ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นทั้งในป่าผลัดใบและไม่ผลัดใบ ที่โล่ง ชายป่า ทุ่งหญ้า บนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1600 เมตร ทั้งต้นคั้นน้ำใช้พอกแผลไฟไหม้ ขับลม ปวดข้อ ผลและเมล็ดแก้ไข้ แก้ไอ กิ่งและใบยังใช้ในพิธีกรรมความเชื่อต่าง ๆ

สกุล Diplocyclos (Endl.) T.Post & Kuntze มี 5 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “diplos” ซ้อน และ “kyklos” เป็นวง อาจหมายถึงมือจับแยกแขนงม้วนเป็นวง

ชื่อพ้อง  Bryonia palmata L.

ขี้กาลาย: ใบรูปฝ่ามือแฉกลึก ดอกเพศผู้ก้านดอกยาว เกสรเพศเมียแยก 3 แฉก ผลสุกสีแดง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ธรรมรัตน์ พุทธไทย, Brigitta Duyfjes)

เอกสารอ้างอิง

de Wilde, W.J.J.O. and B.E.E. Duyfjes. (2008). Cucurbitaceae. In Flora of Thailand Vol. 9(4): 432–435.