| | Dapsilanthus disjunctus (Mast.) B.G.Briggs & L.A.S.Johnson |
|
ไม้ล้มลุก แตกกอหนาแน่น สูงได้ถึง 1 ม. แยกเพศต่างต้นหรือมีดอกสมบูรณ์เพศร่วมต้น เหง้าทอดเลื้อย มีเกล็ดเรียงซ้อนเหลื่อม ต้นอ่อนมีขนคล้ายขนแกะหนาแน่น ลำต้นกลวง เหนียว มีกาบยาว 1–3 ซม. ปลายเรียวแหลม ขอบมีขนคล้ายไหม ใบขนาดเล็กแนบติดลำต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อเชิงลดเป็นกระจุกแน่น ใบประดับรูปไข่แคบ สีน้ำตาลแดง ยาว 2–2.5 มม. ช่อดอกเพศผู้มีดอกเดียว กลีบรวมมี 4–6 กลีบ คู่นอกเรียงตรงข้าม รูปเรือ ยาวประมาณ 2 มม. กลีบในแคบและสั้นกว่าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ 3 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1.5 มม. ปลายอับเรณูเป็นติ่งแหลม ช่อดอกเพศเมียมี 3–5 ดอก กลีบรวมมี 6–8 กลีบ สั้นกว่าในดอกเพศผู้เล็กน้อย รังไข่มีช่องเดียว ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรแยก 3 แฉก ผลแห้งแตกด้านเดียว รูปรี ยาว 0.5–1 มม.
พบที่จีนตอนใต้ ไห่หนาน ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามทุ่งหญ้าที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะใกล้ชายทะเลและภูเขาหินทราย ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร ลำต้นใช้ทำไม้กวาด
สกุล Dapsilanthus B.G.Briggs & L.A.S.Johnson มี 4 ชนิด พบในเอเชียและออสเตรเลีย ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “dapsilis” จำนวนมากหรือหนาแน่น และ “anthos” ดอก ตามลักษณะช่อดอกเรียงเป็นกระจุกแน่น
| ชื่อพ้อง Leptocarpus disjunctus Mast.
| | | | | แส้ม้าฮ่อ: ไม้ล้มลุก แตกกอหนาแน่น ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลดเป็นกระจุกแน่น เรียงบนช่อเแยกแขนง ใบประดับรูปไข่แคบ สีน้ำตาลแดง (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)
|
|
|
เอกสารอ้างอิง | Briggs, B.G. and L.A.S. Johnson. (1998). New genera and species of Australian Restionaceae (Poales). Telopea 7(4): 369. |
| Larsen, K. (2000). Restionaceae (Leptocarpus disjunctus). In Flora of Thailand Vol. 2(2): 172–174. |
| Wu, G. and K. Larsen.(2000). Restionaceae. In Flora of China Vol. 24: 2. |