สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



กระเจียว  สกุล
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Curcuma L.

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุกมีเหง้า รากอวบหนา ใบเรียงเวียน ใบที่โคนลดรูปเป็นกาบ ลิ้นกาบขนาดเล็ก ช่อดอกแบบช่อเชิงลดออกที่ยอดหรือเหง้า บางครั้งออกก่อนผลิใบ ใบประดับเชื่อมติดกันประมาณกึ่งหนึ่งคล้ายถุง ช่อดอกย่อยแบบวงแถวเดียว มี 2–7 ดอก ใบประดับช่วงปลายมักมีสีสด ส่วนมากไม่มีช่อดอก ดอกมักบานครั้งละดอกเดียว ใบประดับย่อยแยกจรดโคน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ แฉกลึกด้านเดียว ปลายจัก 2–3 แฉก ดอกรูปแตร กลีบดอก 3 กลีบ ยาวเท่า ๆ กัน หรือกลีบบนขนาดใหญ่กว่า แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันด้านข้างเชื่อมติดก้านชูอับเรณูและกลีบปากที่โคน กลีบปากกลีบกลางหนา กลีบข้างบางเรียงซ้อนแผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูติดไหวได้ โคนมักมีเดือย แกนอับเรณูไม่มีรยางค์ รังไข่มี 3 ช่อง ผลแห้งแตกเป็น 3 ซีก

สกุล Curcuma มีประมาณ 120 ชนิด ปัจจุบันได้รวมเอาสกุลว่านเข้าพรรษา Smithatris และสกุลว่านเพชรไพรวัลย์ Stahlianthus ไว้ด้วย ในไทยมีกว่า 40 ชนิด ส่วน C. longa L. หรือขมิ้น เป็นพืชสวนครัว มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ชื่อสกุลมาจากภาษาอาหรับ “kurkum” หมายถึงสีเหลืองของหัวขมิ้น


เอกสารอ้างอิง

Mood, J. and K. Larsen. (2001). New Curcumas from South-east Asia. New Plantsman 8(4): 210–211.

Škorničková, J. and M. Sabu. (2005). (2005). Curcuma roscoeana Wall. (Zingiberaceae) in India. Gardens’ Bulletin Singapore 57 (Suppl.): 187–198.

Škorničková, J. O. Šída, E. Záveská and K. Marhold. (2015). History of infrageneric classification, typification of supraspecific names and outstanding transfers in Curcuma (Zingiberaceae). Taxon 64(2): 362–373. http://dx.doi.org/10.12705/642.11