ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง 25 ม. ลำต้นและกิ่งเรียบ เกลี้ยง มักมีหนาม ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 3–12 ซม. แผ่นใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 2–5 มม. ปลายมน แหลม หรือแหลมยาว โคนรูปลิ่ม ช่อดอกมี 1–5 ดอก ออกสั้น ๆ ตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 1–3 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 5–7 มม. ปลายมน มีต่อมเป็นริ้วกระจาย ดอกสีชมพูอมแดงหรือส้ม กลีบรูปไข่กลับ ยาว 0.5–1 ซม. มีต่อมกระจาย ปลายกลม ไม่มีเกล็ด มัดเกสรเพศผู้ยาว 4–8 มม. ระหว่างมัดมีเกล็ดหนารูปลิ้นสีเหลือง ยาวประมาณ 3 มม. ก้านชูอับเรณูสั้น รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2 มม. ผลรูปรี ยาว 0.8–1.2 ซม. กลีบเลี้ยงหุ้มเกินกึ่งหนึ่ง เมล็ดยาว 6–8 มม. รวมปีก
พบที่จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และฟลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นในปาผลัดใบและไม่ผลัดใบ ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร ผลอ่อนเป็นเครื่องเทศใช้ปรุงอาหาร รากและกิ่งมีสรรพคุณแก้ไอ ท้องเสีย ใบอ่อนใช้ชงแทนใบชา
|
ชื่อพ้อง Hypericum cochinchinense Lour.
|
|
ชื่อสามัญ Yellow cow wood
|
ชื่ออื่น กุ่ยฉ่องบ้าง (กะเหรี่ยง-ลำปาง);
ขี้ติ้ว, ติ้วเกลี้ยง, ติ้วใบเลื่อม (ภาคเหนือ)
|
|
ติ้วเกลี้ยง: ลำต้นและกิ่งเรียบ เกลี้ยง ช่อดอกมี 1–5 ดอก ออกสั้น ๆ ตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ระหว่างมัดเกสรเพศผู้มีเกล็ดหนารูปลิ้นสีเหลือง กลีบเลี้ยงหุ้มผลเกินกึ่งหนึ่ง (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)
|
|