ปาล์มต้นเดี่ยว ออกดอกแล้วตาย ลำต้นสูงได้ถึง 15 ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8–1 ม. กาบใบแยกจรดโคน ใบรูปพัดเรียงเวียน เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4–3 ม. ใบแยก 80–100 แฉก แฉกลึกเกินกึ่งหนึ่งหรือเกือบจรดเส้นกลางใบ เส้นกลางใบโค้ง ก้านใบยาว 2.5–4 ม. แกนก้านเป็นร่องลึก ขอบมีหนามสีดำยาวประมาณ 2 ซม. ปลายก้านจุดเชื่อมติดใบ (hastula) มีขอบหนาชัดเจนทั้งสองด้าน ช่อดอกออกที่ยอด สูงได้ถึง 5 ม. แยกแขนงจำนวนมาก ใบประดับคล้ายใบ ใบประดับช่อแยกแขนงแรกมี 2 สัน ใบประดับช่อแขนงเป็นหลอด ช่อย่อยแบบช่อวงแถวเดี่ยว ดอกสมบูรณ์เพศ มีก้านดอกเทียมสั้น กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 3 กลีบ เกสรเพศผู้ 6 อัน รังไข่มี 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 2–3 ซม. ผนังผลชั้นกลางสด มีเมล็ดเดียว
พบที่อินเดียรวมหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี และออสเตรเลียตอนบน ในไทยพบทางภาคใต้ ขึ้นตามที่โล่งใกล้ชายฝั่งทะเล ความสูงถึงประมาณ 300 เมตร ส่วนต่าง ๆ ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับตาลหรือมะพร้าว เนื้อในเมล็ดกินได้ รากแก้ท้องเสีย แก้ไอและไข้หวัด
สกุล Corypha L. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Coryphoideae มี 5 ชนิด ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ ลานป่า C. lecomtei Becc. ex Lecomte พบเฉพาะในภูมิภาคอินโดจีน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไทย ก้านใบขอบมีปื้นสีดำ ช่อดอกสูงมากกว่า 5 เมตร ช่อแยกแขนงไม่หนาแน่น ส่วน ลาน C. umbraculifera L. มีถิ่นกำเนิดในศรีลังกาและอินเดียทางตอนใต้ ในไทยนำเข้ามาปลูกนานมาแล้ว โดยเฉพาะตามวัด ก้านใบไม่มีปื้นสีดำ แต่โคนก้านใบเป็นติ่งคล้ายหู ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “koryphe” ยอด ตามลักษณะช่อดอกที่ออกตามยอด และใบเรียงเวียนหนาแน่นที่ยอด
|