ไม้ล้มลุก ลำต้นเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ลำต้นยาวได้ถึง 1 ม. ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่แกมสามเหลี่ยมหรือรูปหัวใจ กว้าง 2–5 ซม. ยาว 3–6 ซม. ปลายแหลม โคนตัดหรือรูปหัวใจ ขอบเว้าเป็นคลื่น ก้านใบยาว 1–3 ซม. ช่อดอกแบบซี่ร่ม ก้านช่อยาว 2–5 ซม. มี 3–8 ดอก ก้านดอกยาว 0.3–1.2 ซม. ดอกรูปแตร สีชมพู ปลายแยกเป็น 5 กลีบ หลอดกลีบสั้น กลีบรูปรีกว้าง ยาว 6–8 มม. หลอดกลีบสั้น เกสรเพศผู้ 2–4 อัน เชื่อมติดกันที่โคน ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอกกว่า 1 ซม. รังไข่มีช่องเดียว มีก้านสั้น ๆ ยอดเกสรเพศเมียรูปโล่ ผลแห้งเมล็ดล่อน รูปกรวยกลับ ยาว 6–8 มม. เป็นสันตื้น ๆ ตามยาว มีขนต่อมเหนียวกระจาย มีเมล็ดเดียว
พบที่ อินเดีย ปากีสถาน ไห่หนาน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่าหรือชายทะเล ความสูงจนถึงประมาณ 500 เมตร ใบขยี้แก้คันจากโรคหิด รากใช้ทำให้อาเจียนเพื่อลดพิษจากงูกัด
สกุล Commicarpus Standl. เดิมเป็นชื่อพ้องของสกุล Boerhavia ที่ดอกรูประฆัง ก้านเกสรเพศผู้และเพศเมียยื่นพ้นหลอดกลีบดอกเพียงเล็กน้อย มีประมาณ 25 ชนิด ส่วนใหญ่พบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน โดยเฉพาะในแอฟริกา ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “commis” หรือภาษากรีก “kommi” เหนียว และ “karpos” ผล ตามลักษณะผลที่มีต่อมเหนียว
|